5 บิ๊กรถยนต์ญี่ปุ่นร่วมลงขัน ดันโปรเจ็คท์ ‘บัส-แท๊กซี่ไร้คนขับ’ แจ้งเกิดปีหน้า

30 มิ.ย. 2562 | 04:11 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นเคลื่อนไหวอย่างคึกคักรองรับโลกยุคใหม่ที่กำลังจะขับเคลื่อนด้วยระบบไรด์-แชริ่ง (ride-sharing) มากขึ้น ซึ่งหมายถึงในอนาคตผู้คนไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัวอีกต่อไป แต่สามารถเรียกใช้บริการรถบัสหรือรถยนต์จากผู้ให้บริการได้ทุกที่ทุกเวลาตามต้องการ (on-demand service)

โตโยต้า อี-แพลเล็ตต์

ล่าสุดแนวโน้มดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเป็นรูปธรรมโดย 5 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่น ประกอบด้วยซูซูกิ มาสด้า ซูบารุ อีซูซุ และไดฮัทสุ (ในเครือโตโยต้า) ได้ร่วมกันลงทุนรายละ 57.1 ล้านเยน (530,620 ดอลลาร์) หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณรายละ 16.44 ล้านบาท เข้าร่วมสนับสนุนโครงการ “โมเนต์” (Monet) ที่เป็นโครงการโดยความริเริ่มของบริษัท โตโยต้า ร่วมกับบริษัท ซอฟต์แบงก์ มุ่งพัฒนาบริการรถบัสและรถยนต์แบบไร้คนขับที่สมาชิกผู้ใช้บริการสามารถเรียกใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นได้ตามความต้องการ  การลงเงินร่วมลงทุนครั้งนี้จะทำให้ 5 บริษัทได้ถือหุ้นในธุรกิจดังกล่าวรายละ 2%  ส่วนโตโยต้าและซอฟต์แบงก์ที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการจะถือหุ้นฝ่ายละ 35%  ร่วมด้วยอีก 2 พันธมิตรคือ ฮอนด้า และฮิโน่ ถือหุ้นฝ่ายละ 10%  ปัจจุบันโครงการมีวงเงินลงทุน 26.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 824.6 ล้านบาท


 

5 บิ๊กรถยนต์ญี่ปุ่นร่วมลงขัน ดันโปรเจ็คท์ ‘บัส-แท๊กซี่ไร้คนขับ’ แจ้งเกิดปีหน้า

โครงการโมเนต์ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นโครงการร่วมผนึกกำลังโดยเหล่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และรถบัสชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่นถึง 8 บริษัท จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้ และทางกลุ่มพันธมิตรร่วมทุนก็วางแผนจะเริ่มให้บริการเรียกรถบัสและรถยนต์แบบขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับในประเทศญี่ปุ่นในปีหน้า (2563) จากนั้นจะเริ่มให้บริการด้วยรถบัสและรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2566 โดยตัวรถนั้นจะพัฒนาต่อยอดมาจากยานยนต์ไฟฟ้าเอนกประสงค์ของโตโยต้ารุ่น e-Palette ที่มีรูปทรงเหมือนกล่อง


 

ความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่นในครั้งนี้ถือเป็นการเข้าร่วมกระแสของบริการเรียกใช้รถแบบ ride-sharing (บริการรถยนต์ร่วมโดยสาร) ที่ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพอย่างอูเบอร์ (Uber) ลีฟท์ (Lyft) และตี่ตี้ ชูสิง (Didi Chuxing) ครองตลาดอยู่  ทำให้เห็นเทรนด์การตลาดที่ผู้ผลิตรถยนต์ต้องมุ่งเจาะตลาดรถให้บริการมากขึ้น (fleet) นอกเหนือไปจากการเจาะขายผู้ซื้อรายบุคคล

 

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารของโครงการโมเนต์เคยให้สัมภาษณ์สื่อใหญ่อย่างรอยเตอร์ว่า ทางกลุ่มกำลังหาผู้ร่วมลงทุนเพิ่มเติมและจะเริ่มให้บริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยในปีหน้า