ยักษ์ญี่ปุ่นหนีจีน พาเหรดกลับไทย

14 มิ.ย. 2562 | 04:30 น.

เทรดวอร์บีบ 1.3 หมื่นบริษัทญี่ปุ่นในจีน เร่งย้ายฐาน ไทยส้มหล่นค่ายยักษ์ใหญ่พาเหรดไหลเข้าทั้งพานาโซนิค โตชิบา ไดกิ้น ฟูจิตสึ ชาร์ป บีโอไอเผยยอด 3 เดือนแรกทุนซามูไรได้รับส่งเสริมอันดับ 1 กว่า 2.6 หมื่นล้าน สภาหอฯจี้รัฐบาลใหม่เร่งดันไทยเข้า CPTPP ทำเอฟทีเอกับอียู ดึงทุนแข่งเวียดนาม

1.3 หมื่นบริษัทระส่ำ

รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เผยว่า จากผลการสำรวจของ Teikoku Data Bank ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นที่ไปลงทุนในจีน (ณ พฤษภาคม 2562) มีจำนวนรวม 13,685 บริษัท ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทที่อยู่ในภาคการผลิต 5,695 บริษัท หรือสัดส่วนกว่า 41% โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งได้มีการโยกย้ายฐานการผลิตกลับไปยังญี่ปุ่น และไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ไทย ขณะที่ผลการสำรวจโดยเจโทร พบว่า สัดส่วน 68.6% ของบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในจีน ใช้จีนเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกต่อ และ 31.4% ผลิตเพื่อจำหน่ายในจีน ยักษ์ญี่ปุ่นหนีจีน  พาเหรดกลับไทย

สำหรับการเตรียมรับมือจากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ส่อเค้ายืดเยื้อและอาจเลวร้ายยิ่งขึ้น บริษัทญี่ปุ่นต่างวางแผนและบ้างก็เริ่มดำเนินการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนแล้ว โดยในส่วนที่ไทยได้อานิสงส์ เช่น บริษัท Panasonic ผู้ผลิตเครื่องเสียงสำหรับรถยนต์ ได้ย้ายฐานการผลิตส่วนหนึ่งมายังไทย และมาเลเซีย, บริษัท Toshiba Machinery ผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกได้ย้ายฐานการผลิตมายังไทย และส่วนหนึ่งกลับไปยังญี่ปุ่น, บริษัท Daikin Industry ผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์สำหรับเครื่องทำความเย็น กำลังวางแผนจะย้ายฐานการผลิตมาไทย, บริษัท Fujitsu General ผลิตเครื่องปรับอากาศได้ย้ายฐานการผลิตส่วนหนึ่งจากจีนมาไทย และบริษัท Sharp มีแผนที่จะย้ายโรงงานผลิตเครื่องถ่ายเอกสารมายังไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ขณะที่อีกหลายบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาสถานที่เพื่อย้ายฐาน

 

ฟูจิตสึเพิ่มผลิต

ในไทย20%

นายสินเมธ อิ่มเอม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฟูจิตสึ เจเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้ผลิตและส่งออกเครื่องปรับอากาศรายใหญ่เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ฟูจิตสึ เจเนอรัลบริษัทแม่จากญี่ปุ่นได้ย้ายฐานการผลิตบางส่วน (ในบางรุ่น) มายังโรงงานในไทย จะช่วยเพิ่มกำลังผลิตของบริษัทในปีนี้อีก 20% เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และอื่นๆ สำหรับในปี 2561 บริษัทมีการส่งออกเครื่องปรับอากาศประมาณ 2 ล้านเครื่อง มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งฐานผลิตในไทยสัดส่วน 95% เป็นการผลิตเพื่อส่งออก การขยายกำลังผลิตจะช่วยเพิ่มยอดขายมากขึ้น

 

จี้รัฐบาลใหม่เร่ง2เอฟทีเอ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าการย้ายฐานการผลิตของต่างชาติออกนอกจีน เป็นผล
กระทบจากสงครามการค้าอย่างชัดเจน โดยในสินค้าที่เป็นไฮเทคโนโลยี ใช้คนน้อยและสามารถใช้หุ่นยนต์ (โรบอต) ในการผลิตแทนคนได้จะย้ายกลับไปผลิต
ที่ญี่ปุ่นมากขึ้น และบางส่วนจะย้ายไปลงทุนในสหรัฐฯเพื่อเลี่ยงผลกระทบ ซึ่งเวลานี้สหรัฐฯได้ให้สิทธิประโยชน์จูงใจด้านต่างๆ มาก ขณะที่อีกกลุ่มใหญ่จะย้ายฐานผลิตมายังกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งรวมทั้งไทย เพื่อใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯทดแทนฐานผลิตในจีนที่ต้องเสียภาษีนำเข้าตลาดสหรัฐฯสูง

“อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ทุนต่างชาติเช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ ย้ายฐานจากจีนเข้ามา ทำให้หลายประเทศได้รับอานิสงส์ เช่น เวียดนาม ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ซึ่งเวียดนามและไทยได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ
โดยเวียดนามมีสิทธิประโยชน์จูงใจที่ดี มีแรงงานจำนวนมาก ค่าจ้างไม่สูงนัก ส่วนไทยมีอีอีซีที่รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์มาก ที่น่าจับตาคือเมียนมาที่เวลานี้นิคมอุตสาหกรรมติลาวาที่พัฒนาและลงทุนโดยญี่ปุ่นได้แล้วเสร็จ ขณะนี้มีค่ายรถยนต์โตโยต้า และมาสด้ากำลังเข้าไปลงทุน”

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า บริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ไทยมานาน 40-50 ปี ยังมีการลงทุนต่อเนื่อง เพราะรู้ดีว่าจะขยายการลงทุนตรงไหน อย่างไร ยิ่งไทยมีโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยิ่งเป็นแรงจูงใจ ส่วนที่เป็นนักลงทุนรายใหม่จากญี่ปุ่นที่มีฐานในจีนจะพิจารณาไปลงทุนที่เวียดนามเป็นลำดับต้นๆ เพราะมีหลายปัจจัยที่เอื้อกว่า ทั้งสิทธิประโยชน์ แรงงาน ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในหลายกรอบที่มีผลบังคับใช้แล้ว และกำลังจะมีผลบังคับใช้ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และ เอฟทีเอเวียดนาม-สหภาพ ยุโรป (อียู) เป็นต้น

“เวลานี้ CPTPP และเอฟทีเอเวียดนาม-อียูเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนรายใหม่ของญี่ปุ่นตัดสินใจไปลงทุนในเวียดนาม ดังนั้นรัฐบาลใหม่ของไทยจะ
ต้องเร่งผลักดันให้ไทยเข้าร่วม CPTPP และมีเอฟทีเอกับอียูโดยเร็วเพื่อเป็นแรงจูงใจเช่นกัน”

จากข้อมูลของบีโอไอ เผยว่า ช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ญี่ปุ่นยังมีการลงทุนในไทยต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมมากสุด 65โครงการ มูลค่า 17,695.40 ล้านบาท 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,478 วันที่ 13 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ยักษ์ญี่ปุ่นหนีจีน  พาเหรดกลับไทย