ประชาธิปัตย์ตรังผึ้งแตกรัง4ก๊กสู้ศึก4เขตใครดีใครอยู่

19 มี.ค. 2566 | 06:23 น.

การเมืองคึกคักวางตัวผู้สมัครชิงส.ส.ตรังสะเด็ดน้ำ หวังชิงส่วนแบ่งจากปชป.แชมป์เก่า หลายพรรคเล็งเจาะเร่งรอยปริปชป. 4 เขต 4 ก๊ก บริหารวุ่นสายสัมพันธ์"พรรค-พวก"   

เลือกตั้งใหญ่ 2566 นี้ หลายพรรคส่งคนลงเจาะเขตเลือกตั้งภาคใต้ เนื่องจากเห็นโอกาสจะแบ่งเก้าอี้ส.ส.จากแชมป์เก่า คือพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่เคยครองเสียงส.ส.ภาคใต้มายาวนาน แม้กระทั่ง 4 เขตเลือกตั้งของจังหวัดตรัง ฐานที่มั่นยาวนานตลอดเส้นทางการเมืองของนายชวน หลีกภัย 

แต่สถานการณ์สู่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนตรังและภาคใต้ จากอดีตที่เคยยิ่งใหญ่ ได้เป็นแกนหลักจัดตั้งรัฐบาลมาหลายสมัย มาถึงวันนี้ประชาธิปัตย์ไม่เหมือนเก่าเมื่อเกิดความแตกแยกไม่ลงรอยกัน  ต่างคนต่างคิด ต่างคนคนต่างเดินทั้ง 4 เขต จาก 4 ก๊ก 

เปลี่ยนตัว นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีตส.ส.เขต4 ตรัง คนใกล้ชิดนายชวน ขึ้นป้ายปักหมุดขอลงชิงส.ส.ต่อแต่ผิดหวัง ต้องเปลี่ยนไปลงในนามรวมไทยสร้างชาติ (ภาพจากแฟ้ม)

ตระกูลโล่สถาพรพิพิธขึ้นป้ายหนุนสท.กาญจน์ ตั้งปอง ลงชิงส.ส.เขต4 จังหวัดตรัง แทนคนเดิม (ภาพจากแฟ้ม)

ประกอบด้วย 1. ก๊ก"หลีกภัย" มีนายกิจ หลีกภัย พี่ชายนายชวน และเป็นคนดูแลพื้นที่ตรังมายาวนาน เป็นแม่ทัพ 2.ก๊ก"วงศ์หนองเตย" นำโดยนายสาทิตย์ ส.ส.เขต 2  ตามด้วย 3.ก๊ก"โล่สถาพรพิพิธ" นำโดยโกหนอ-สมชาย  ที่ส่งลูกสาวเป็นส.ส.ตรัง เขต 3 และ 4. ก๊ก"ถนอมพงศ์" แม้จะเป็นหลีกภัยแต่ต้องการโตขนลำแข้งตนเอง

รอยร้าวเริ่มแต่ครั้งสนามชิงเก้าอี้นายกฯอบจ. ที่นายบุ่นเล้ง พี่ชายนายสมชาย ลงสนาม ขณะที่นายสาทิตย์ก็ส่งน้องชาย คือนายสาธร (โกทอน) วงศ์หนองเตย ลงแข่ง แม้นายบุ่นเล้งชนะ แต่รอยแผลใจยังมีและอักเสบต่อ จากกระแสรุมเร้าจากสังคมออนไลน์ ที่นายสมชายปักใจว่าเป็นฝีมือนายสาทิตย์ ถึงขนาดตั้งกลุ่ม"คนไม่เอาสาทิตย์" ขวางทางสู่เก้าอี้ส.ส.เขต 2 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่สาทิตย์สู้กลับ ปลุกกระแส”อย่าให้คนนอกมากำหนดอนาคตทางการเมืองของคนห้วยยอด”

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เขต 2 หลายสมัย ต้องการแสงและพื้นที่ของตนเองเพื่อการเติบโต

สมชาย โล่สถาพรพิพิธ อีกหนึ่งตระกูลการเมือง ที่รับว่าตรังเปลี่ยนไปแล้ว พร้อมบริหารสายสัมพันธ์ทั้ง"พรรค-พวก"

ความขัดแย้งคนปชป.ตรังไม่จบแค่นั้น การจัดคนลงส.ส.ใน 4 เขตของตรัง เดิมได้ตัว 3 เขตล่วงหน้า คือ เขต1 นพ.ตุลกานต์  มักคุ้น  เขต 2 นายสาทิตย์  วงศ์หนองเตย 3.นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ 

ส่วนเขต 4 ไม่ลงตัว เมื่อนายสมชายและนางสาวสุณัฐชา มองว่า นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ไม่มีฐานเสียง จนนายเดชอิชณ์  ขาวทอง ส.ส.สงขลา รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ดูแลภาคใต้  ให้ทำโพลล์สำรวจคะแนนนิยม และส่ง"นายกาญจน์ ตั้งปอง" สท.เมืองกันตัง ในสายของนายสมชายลงแทน 

เหตุการณ์นี้ส่งผลให้นายสมบูรณ์ ซึ่งไม่ได้ลงสมัครส.ส.ครั้งก่อน เพราะตรังเหลือแค่  เขตเลือกตั้ง ต่อมาไปนั่งเป็นเลขานุการประธานรัฐสภาให้นายชวน หลีกภัย ต้องออกจากพรรคหันไปซบรวมไทยสร้างชาติ เพื่อลงสนามครั้งนี้แทน

พรรคปชป.แตกที่ตรังยังไม่จบ ล่าสุดนายสมชายประกาศไม่หนุนนพ.ตุลกานต์ ที่ถูกวางมือลงเลือกตั้งเขต 1 อีก จนคอการเมืองเมืองหมูย่าง เล่าลือกันให้แซดถึงเบื้องหน้าเบื้องหลัง ซึ่งนายสมชายออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่า ตนไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคปชป.แล้ว ที่ออกมาช่วยปชป.เพราะนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค มาขอให้ช่วย แต“ตนเองไม่มีความพร้อมที่จะไปช่วยนพ.ตุลกานต์  มักคุ้น ผู้สมัคร ส.ส.ปชป.เขต 1 แล้ว   แต่จะดูแลเขต 3และเขต 4 เท่านั้น”

ศึกเลือกตั้งตรังเขต 1 เพิ่มสีสันขึ้นอีก เมื่อนายถนอมพงศ์  หลีกภัย รองนายกเทศมนตรีนครตรัง ญาติของนายชวน  หลีกภัย ประกาศตัวลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ แข่งกับนพ.ตุลกานต์ มักคุ้น ที่จะลงในนาม ปชป.

วงในการเมืองตรังพอรู้กันว่า นายถนอมพงศ์ ถึงจะนามสกุล"หลีกภัย" แต่ก็มีความคิดอิสระ ไม่ขึ้นกับบ้านใหญ่"หลีกภัย"แต่อย่างใด แต่ขึ้นตรงกับอดีตกำนันผู้มากบารมีส่งเข้าประกวด โดยมีอดีตผบ.ตร.คนหนึ่งต่อสายตรงกับอดีตกำนัน ให้ช่วยวางตัวผู้สมัครรวมไทยสร้างชาติ  ทำให้สมชายประกาศวางมือไม่หนุนนพ.ตุลกานต์ ที่ทำงานคู่กับ"กิจ หลีกภัย"มานานปี ในโครงการตรวจสุขภาพคนตรัง แต่หันมาหนุนนายถนอมพงศ์แทน 

ความปั่นป่วนภายในปชป.ตรังข้างต้น ทำให้ล่าสุด นพ.ตุลกานต์ รำพึงกับคนใกล้ชิด ว่าอาจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว 

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กับ"หลีกภัย" ก็ไม่สู้ดี โดยในอดีตส.ส.ตรัง ยกเว้นนายชวน ไม่เคยมีใครได้เป็นรัฐมนตรี จนมีนายสาทิตย์ ที่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รอยปริเริ่มขยายเมื่อนายสาทิตย์ส่งคนของตนเองลงสมัครสมาชิกสภาอบจ.ตรัง ในนามปชป. แข่งกับทีม"กิจปวงชน" ที่มีนายกิจ หลีกภัย เป็นหัวหน้าทีมและนายก อบจ.ตรังหลายสมัย  และนับวันความสัมพันธ์ยิ่งถอยห่าง ขณะที่เมื่อผู้บริหารพรรคปชป. เลือกวางตัวนายกาญจน์  ตั้งปอง ลงชิงส.ส.เขต 4 แทนนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เจ้าของพื้นที่เดิมและเป็นมือทำงานของนายชวน หลีกภัย แต่ก็ปกป้องอะไรไม่ได้ ทำเอาผู้สนับสนุนเสียความรู้สึกไปตามกัน 

แต่ในทางลึกวงการการเมืองตรังชี้ว่า นายกิจเดินสายพบหัวคะแนนเขตเลือกตั้งที่ 4 ให้ช่วยหาเสียงสนับสนุนนายสมบูรณ์ ที่ต้องลงสนามสู้ศึกในนามพรรครวมไทยสร้างชาติแทน และยังเปรย ๆ กับบรรดานักการเมืองท้องถิ่น เช่น รองนายก อบจ. ส.อบจ. และกำนันบางคน ในทำนองเขตเลือกตั้งที่ 2 จะช่วยหาเสียงให้พรรคปชป. แต่ตัวผู้สมัครนั้นไม่เอา เพราะกับ"ทวี สุระบาล"ก็รักและดีกันมาก

เท่ากับว่าก๊กนายกิจ ต้องแข่งขันวัดพลังการเมืองกับก๊กนายสมชาย ในสนามเลือกตั้งเมืองตรัง ที่จะดุเดือดคือเขตเลือกตั้งที่ 1 และที่ 4 ที่บรรดา"ผู้กว้างขวาง"ต้องบริหาร "พวก" ยิ่งกว่า"พรรค" ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้

ความปั่นป่วนของค่ายปชป.ในสนามเลือกตั้งตรังครั้งนี้ ดูเหมือนมี"สมชาย โล่สถาพรพิพิธ" เป็นคนเร่งอุณหภูมิร้อน   ซึ่งนายสมชาย หรือโกหนอ เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า  ตนเป็นคนเลือดประชาธิปัตย์ และเป็นเพื่อนกับเลขาธิการพรรค โดยเฉพาะท่านรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ก็เป็นเพื่อนสนิทกัน อย่างไรตนก็ต้องช่วยประชาธิปัตย์ทั้งพฤตินัยและนิตินัย การเมืองระดับชาติตนก็เกิดมาจากประชาธิปัตย์ 

"แต่รอบนี้ตนไม่เชิงได้รับการมอบหมายจากเลขาธิการพรรคฯ แต่อยากช่วยเหลือดูแลประสานงาน 2 เขต คือ เขต 3 และ 4 ซึ่งเขต 3 ลูกสาวของตนเป็นส.ส.และว่าที่ผู้สมัครในครั้งนี้ ส่วนเขต 4 มีนายกาญจน์ ตั้งปอง เป็นว่าที่ผู้สมัครในนามปชป. ซึ่งตนและอีกหลายคนช่วยกันหามา และเมื่อทำโพลก็ชนะนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส่วนอีก 2 เขต คือ เขต1 , 2 ตนไม่ได้ดูแล 

ซึ่งเขต 3 , 4 ตนก็เป็นหัวคะแนนช่วยหาเสียงให้ว่าที่ผู้สมัคร ทำในฐานะคนประชาธิปัตย์เก่า ทั้ง 2 เขตไม่เชิงว่าจะมีความหนักใจ แต่ต้องทำการบ้านหนักขึ้น ต้องยอมรับความจริงที่ว่าประชาธิปัตย์ในพื้นที่อื่นและพื้นที่จ.ตรัง ไม่เหมือนเดิม ที่พอสมัครก็ได้แน่นอน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามาทำให้สถานการณ์การเมืองในตรังเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นต้องทำการบ้านและหาเสียงหนักพอสมควร

เขตเลือกตั้ง3 ของส.ส.สุณัชชา โล่สถาพรพิพิธ ลูกสาวตน ไม่ได้มีปัญหาอะไร ผู้สมัครอื่นก็ไม่ได้แข็งแกร่ง น่าจะเป็นเขตที่ราบรื่นที่สุดของตรัง ส่วนเขต 4 นายกาญจน์เป็นอดีตสมาชิกสภาเทศบาลเมืองกันตังอยู่แล้ว ส่วนเสียงรอบนอกเขตเทศบาลก็จะใช้แกนนำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต.เข้ามาช่วย โดยเขต 4 นี้มีคู่แข่งที่สูสีคือนายนายดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์ ว่าที่ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย ที่ลงพื้นที่มานานแล้วและมีโอกาสพอกัน ซึ่งแม้นายดิษฐ์ธนินจะเป็นหลานแท้ ๆ  แต่ตนสนับสนุนนายกาญจน์ เพราะเป็นคนหนึ่งที่ร่วมเสนอชื่อนี้ขึ้นมา

ส่วนเขต 1 ช่วงแรกตนได้รับมอบหมายจากนายกิจและนายระลึก หลีกภัย  ให้ช่วยหาตัวผู้สมัคร และตนได้เสนอนพ.ตุลกานต์ มักคุ้น และให้ช่วยดูแลเขต1 แต่ช่วงหลังภาระของตนเพิ่มขึ้น หากไปช่วยทั้ง 3 เขตถือว่าเป็นเรื่องที่หนักสำหรับตน ขอแค่ 2 เขตให้ผ่านก็ถือว่าสุดยอดแล้ว หากจะให้ดูแลทั้ง 3 เขต แล้วไม่ทั่วถึงจะมีปัญหาตามมา 

ซึ่งเขตนี้การต่อสู้กันของ 3-4 พรรคการเมือง และเขตนี้เป็นเขตที่ประชาธิปัตย์เสียที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และหลายพรรคจ้องจะได้ที่นั่งเขตนี้ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ นายกิตติพงศ์ ผลประยูร ว่าที่ผู้สมัครของพลังประชารัฐ เขาลงพื้นที่ก่อนใคร และทำอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว มีนพ.รักษ์ บุญเจริญ จากพรรคภูมิใจไทยมาลงสมัครในเขต1 ด้วย และ นายถนอมพงศ์ หลีกภัย (รองนายกเทศมนตรีนครตรัง) จะลงสมัครในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งตอนนี้ยังมองไม่ออกว่าจะเป็นใครจะได้ที่นั่ง ในเขตนี้การแข่งขันรุนแรงและสูสีกัน ซึ่งต้องมองไปถึงการทำงานของเครือข่ายทีมงานว่าทำงานกันได้ผลมากน้อยแค่ไหน 

ส่วนเขต 2 ตนไปจัดเวทีรวมพลคนไม่เอาสาทิตย์ไแล้ว 3 ครั้ง จะจัดครั้งที่ 4 พอดีมีเลือกตั้งส.อบจ. และช่วงโควิดระบาด ถึงวันนี้ก็เข้ากรอบช่วง 180 วันการเลือกตั้ง  แต่หัวใจยังเหมือนเดิม เขตนี้ระหว่างทวี สุระบาล จากพลังประชารัฐ กับสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ปชป. ถือเป็นคู่ที่สูสีและน่าติดตามเปรียบเหมือนมวยคู่เอกของตรัง

โดยนายสาทิตย์ก็มีมวลชนของเขาอยู่ ส่วนนายทวีก็มีผู้นำท้องถิ่นและผู้นำท้องที่ ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต. ส.อบต. สนับสนุน  ซึ่งทั้งสามเขตยังชี้ชัดไม่ได้ว่าจะเป็นคนไหนค่ายไหนได้ชัยชนะ

นายสมชายกล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ที่ตรังน่าจะมีเม็ดเงินเข้ามพอสมควร ประชาธิปัตย์ต้องเตรียมตัวรับมือกับเรื่องนี้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ทำการเมืองสุจริต ซึ่งต้องลงพื้นที่ให้ถึงชาวบ้าน และต้องลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่ประชาธิปัตย์เองในแต่ละเขตจะมีคะแนนฐานอยู่ที่ 20,000 คะแนน และตนเชื่อว่าคนอายุ 50 ปีขึ้นไปยังคงลงคะแนนให้ประชาธิปัตย์ โดยเวลานี้เป็นสังคมผู้สูงอายุเป็นข้อได้เปรียบ รวมทั้งบารมีในอดีตของนายชวน หลีกภัย ยังพอมีอยู่

ทั้งนี้ การแข่งขันในรอบนี้แตกออกเป็นหลายกลุ่ม โดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่น ที่เขต 1 เห็นได้ชัดเจนเลย กระจายกันไป ทั้งภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และการเลือกตั้งรอบนี้จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นในอนาคตด้วย ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่เดิมจะแข่งกันแค่ 2 พรรค การมีตัวผู้สมัครมากขึ้นเป็นทางเลือกให้ประชาชน 

จริงอยู่ประชาธิปัตย์เคยครองอันดับ 1 มาตลอด แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ในอนาคตก็ย่อมมี ส.ส.จากพรรคอื่นด้วย เพราะลึก ๆ คนของพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ค่อยจะกลมเกลียวกัน ตั้งแต่การเลือกตั้งนายก อบจ. มีความแตกแยกกันเยอะแยะ ฉะนั้นการที่จะหนุนหรือช่วยกันและกันมันไม่มีแล้ว หาเสียงกันแบบเขตใครเขตมัน พาตัวเองให้รอดก็ถือว่ามีบุญแล้ว 

เวลานี้ที่หลายผ่านต่างพากันรุมเข้ามา หากปชป.ไม่แตกแยกสามัคคีกัน มองว่าจังหวัดตรังพรรคอื่นคงเข้ามายาก และพวกไอ้ห้อยไอ้โหน ที่คิดแต่โหนไปเป็นผู้แทนฯควรพอได้แล้ว หมดยุคแล้ว เคยเห็นกันมาแล้ว ตอนที่ชนะก็แย่งลง ใครจะเข้ามาไม่ได้ แต่พอแพ้ก็หนีหาย ไม่รับผิดชอบอะไรและยังทิ้งปัญหาไว้ข้างหลัง ที่เป็นแบบนี้เพราะอดีตเราได้มาง่ายเกินไป จนทำให้คนที่เป็นผู้แทนหรือ ส.ส.ไม่ค่อยลงพื้นที่ ไม่ดูแลชาวบ้าน  เพราะคิดว่าลงครั้งต่อไปก็ได้อีก 

นายสมชายกล่าวถึงการย้ายออกจากพรรคด้วยว่า มีหลายสาเหตุ อาทิ 1.สอบตก 2.บัญชีรายชื่อที่ทำให้ย้ายออกไป 3.รู้ตัวเองว่าพรรคไม่ส่งสมัครแล้ว ก็เลยย้ายพรรคไป การย้ายไปย้ายมาเป็นธรรมดาของการเลือกตั้ง แต่จะบอกว่ามีผลประโยชน์หรือไม่นั้นตนไม่ทราบ เพราะมีแต่ข่าว เหมือนสภาชุดนี้มีเรื่องกล้วยออกมาเยอะมาก ซึ่งสมัยที่ตนเป็นส.ส.ไม่มีเรื่องนี้ สมัยนี้ฟังเรื่องกล้วยเป็นเรื่องปกติ ไม่เขินไม่อายกันเลย ซึ่งถือว่าการเมืองแย่ลงมาก และจะแย่ไปข้างหน้า เป็นการสู้กันด้วยเงินจริง ๆ 

ทั้งนี้ คนที่ออกจากปชป.ที่น่าชื่นชม คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งแต่ออกไปไม่เคยหันกลับมาด่าพรรคเลยแม้แต่ครั้งเดียว ถือว่าเป็นคนที่น่านับถือ

ธีมดี  ภาคย์ธนชิต  รายงาน