(21 ก.ค. 66) ภายหลังการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่มีมติให้ พรรคเพื่อไทย ส่งผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ อยู่ในบัญชีของ "พรรคเพื่อไทย" เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดย "พรรคก้าวไกล" จะเป็นผู้เสนอชื่อในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 27 ก.ค. 66
ด้านพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้กล่าวในช่วงการแถลงว่า ทางฝ่าย ส.ว. รวมไปถึงพรรคการเมืองทั้งพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ยังคงมีการยืนยันที่ชัดเจนในกรณีที่มีพรรคก้าวไกล ร่วมรัฐบาลก็จะไม่มีการโหวตให้ และไม่เอาด้วย
แต่พรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล อยู่ด้วยกันมาตลอด ถึงอย่างไร พรรคเพื่อไทย จะต้องรักษา พรรคก้าวไกล เอาไว้ และ พรรคก้าวไกล ควรสนับสนุน พรรคเพื่อไทย จะได้ไม่หนักใจในการหาคะแนนเสียงเพิ่มจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. แต่ถ้าพรรคก้าวไกลยังคงยืนยันตามเดิมก็เชื่องว่า เพื่อไทยคงไม่ผ่าน จึงต้องมีคนเสียสละ เพื่อให้ประชาธิปไตยไปต่อได้
"ผมพูดในที่ประชุม 8 พรรค เปรียบเสมือนเรือล่มอยู่กลางทะเล ต้องให้เด็ก คนแก่ ผู้หญิงขึ้นไปก่อน คนหนุ่มรอเสี่ยงภัย เดี๋ยวเรือลำที่ 2 มาก็ขึ้นเรือไปต่อได้ ตอนนี้ต้องมีการเสียสละให้ประชาธิปไตยไปต่อได้" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว
ส่วนเรื่องการแก้ไข ม.112 นั้นส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ปกติ เนื่องจากตนเคยอภิปรายในสภาฯ แล้วว่า ม.113 เคยมีการเสนอให้แก้ไขหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2499 ปี และล่าสุดปี 2566
ซึ่งการแก้ไขไม่ได้ผิดอะไรเพราะ ม.112 เป็นประมวลกฎหมายอาญา ขนาดการแก้รัฐธรรมนูญยังสามารถแก้ไขได้ แล้วกฏหมายอาญาทำไมจะแก้ไม่ได้ โดยตนก็ถือเป็นคนหนึ่งเคยโดยข้อหา ม.112 มาแล้ว
สำหรับการประชุมรัฐสภาวันที่ 19 ก.ค. 66 ที่มีการเสนอว่าการเสนอชื่อ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เป็นการเสนอซ้ำซ้อน ผิดข้อบังคับการประชุมสภาฯ หรือไม่ ซึ่งที่ผมไม่ได้ลงคะแนนนั้น เนื่องจากเห็นว่า ขัดรัฐธรรมนูญ ถ้าลงคะแนนเท่ากับยอมรับ
และมีบางคนถามว่ามีคนไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ต้องดูว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เพราะถ้าไม่เกี่ยวข้องผู้ตรวจการก็จะไม่รับคำร้อง โดยวันพุธที่ 26 ก.ค. 66 ตนเตรียมที่จะเดินทางไปยื่นร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อปลดล็อกมติครั้งที่แล้วให้ได้ เพื่อให้การโหวตนายกฯ ไม่ติดล็อกอีกต่อไป