ผ่าเกมเพื่อไทยบีบ“ก้าวไกล”เป็นฝ่ายค้าน

21 ก.ค. 2566 | 04:35 น.

ผ่าเกมเพื่อไทยบีบ“ก้าวไกล”เป็นฝ่ายค้าน : “การที่ เศรษฐา จะได้เป็นนายกฯ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 311 เสียง ยังมัดกันแน่น” รายงานการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3907

การเมืองไทยยังไม่ลงตัว ต้องจับตากันไปอีกระยะ คาดว่าช่วงต้นเดือนหน้า สิงหาคม 2566 คงได้เห็นสูตรรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ พรรคเพื่อไทย ส่วนใครจะเป็น “นายกรัฐมนตรี คนที่ 30” ระหว่าง เศรษฐา ทวีสิน หรือ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค เดี๋ยวมารอลุ้นกัน

แต่คนที่หมดโอกาสเป็นนายกฯ คนที่ 30 แล้วแน่ๆ คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล

หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่  19 ก.ค. 2566 มีมติ 395 เสียงต่อ312 เสียง เห็นว่าการเสนอชื่อ นายพิธา ให้รัฐสภาโหวตเป็นนายกฯ รอบที่ 2 เป็นการดำเนินการขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ที่ระบุว่า “ญัตติใดซึ่งตกไปแล้วห้ามนำญัตติขึ้นเสนอซ้ำ” มีสมาชิกงดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

โดยพบว่าเสียงที่สนับสนุนไม่ให้เสนอชื่อ นายพิธา ซ้ำ จำนวน 395 เสียงนั้น มาจาก พรรคขั้วรัฐบาลเดิม 10 พรรค ไม่มีเสียงแตก ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 211 เสียง ลงมติไปในทิศทางเดียวกันกับส.ส.ในขั้วรัฐบาลเดิม ส่วนฝั่งสนับสนุน นายพิธา ยกเว้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ที่ไม่พบการลงคะแนน

ผลจากมติดังกล่าว ทำให้ พิธา หมดสิทธิลุ้นนายกฯ เป็นรอบที่ 2 
ส่วนการตัดประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ในรอบที่ 3 นั้น วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กำหนดออกมาแล้ว เป็นวันพฤหัสที่ 27 ก.ค. 2566 นี้

“เศรษฐา”ลุ้นนายกฯ

การที่ พรรคเพื่อไทย ได้ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แน่นอนแล้วว่า คนที่จะได้รับการเสนอชื่อชิงเก้าอี้นายกฯ คือ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 2 ของพรรค  

“หากต้องเป็นพรรคเพื่อไทย ก็จะเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ และส่วนตัวยังไม่ได้คิดไว้ว่าจะต้องเข้าไปเป็นดำรงตำแหน่งอะไรในฝ่ายบริหาร แต่ยืนยันว่าแคนดิเดตนายกฯ ทั้ง 3 คน ยังช่วยกันทำงาน ไม่ว่าจะตำแหน่งไหนก็ช่วยกันทำงาน” แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย กล่าวไว้เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2566

อย่างไรก็ตาม การที่ เศรษฐา จะได้เป็นนายกฯ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  หาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 311 เสียง ยังมัดกันแน่น และยังมี พรรคก้าวไกล อยู่ร่วมรัฐบาลด้วย เพราะติดเงื่อนไข ม.112
เศรษฐา ก็ต้องไปลุ้นเหมือนกับ พิธา ว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกฯ จาก ส.ว. ถึง 64-65 เสียง เพื่อให้ได้ถึง 376 เสียง หรือไม่

สมมติ รัฐบาลยังเป็น 8 พรรค เดิม และมีการเสนอชื่อ เศรษฐา ต่อที่ประชุมรัฐสภา ก็คงไม่ผ่านด่าน ส.ว.อีกตามเคย 

เมื่อ เศรษฐา ไม่ผ่านการโหวตให้เป็นนายกฯ ในรอบที่ 3 ต่อไปพรรคเพื่อไทย ก็ต้องกลับมาเขย่าสูตรจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ด้วยการดึงพรรคจากขั้วรัฐบาลเดิม มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล 

                               ผ่าเกมเพื่อไทยบีบ“ก้าวไกล”เป็นฝ่ายค้าน

+ ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน

สำหรับสูตรที่เป็นไปได้มีหลายสูตร เช่น อาจจะเป็น “รัฐบาลเพื่อไทย” มีเสียงสนับสนุนรวม 337 เสียง อันประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง ภูมิใจไทย 71 เสียง พลังประชารัฐ 40 เสียง รวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง ประชาธิปัตย์ 25 เสียง ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง ประชาชาติ 9 เสียง ชาติพัฒนากล้า 2 เสียง เพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง เสรีรวมไทย 1 เสียง ก็ได้

หรือจะเป็นสูตร เพื่อไทย 141 เสียง ภูมิใจไทย 71 เสียง พลังประชารัฐ 40 เสียง รวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง ประชาชาติ 9 เสียง ชาติพัฒนากล้า 2 เสียง เพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง เสรีรวมไทย 1 เสียง รวมเป็นรัฐบาล 312 เสียง ก็ได้
โดยทั้ง 2 สูตรจะไม่มี พรรคก้าวไกล ร่วมรัฐบาล แต่ถูกผลักให้ไปเป็นฝ่ายค้าน 

ส่วนบุคคลที่จะผลักดันให้ขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่ 30 คิวต่อไป ก็คือ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 1 ของพรรค บุตรสาวของ ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง

การที่ “รัฐบาลเพื่อไทย” มี พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ มาร่วมรัฐบาลด้วย หรือจะเป็นพรรคใดพรรคหนึ่ง ก็มีโอกาสที่จะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. สาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศวางมือการเมืองไปแล้ว และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในการโหวตสนับสนุนบุคคลที่พรรคเพื่อไทย จะเสนอให้เป็นนายกฯ ซึ่งก็น่าจะได้เสียงสนับสนุนรวมกันเกิน 376 เสียงไปได้   

27 ก.ค.นี้ ถ้า เศรษฐา ทวีสิน ไม่ผ่านการโหวตให้ได้เป็นนายกฯ จากที่ประชุมรัฐสภา ในรอบที่ 3 ก็ต้องไปลุ้นกันต่อในรอบที่ 4 ว่า อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร จะได้เป็น นายกฯ คนที่ 30 ของไทย หรือไม่  
และ “ก้าวไกล” จำใจต้องไปเป็นฝ่ายค้านหรือไม่

++++++


ตั้งรัฐบาลต้องไม่มีก้าวไกล

สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น มีรายงานว่า หลังที่ประชุมรัฐสภามีมติเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ที่ไม่สามารถเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โหวตเป็นนายกฯ ซ้ำได้ในสมัยประชุมเดียวกัน ทำให้ ส.ส.อีสาน พรรคเพื่อไทย จับกลุ่มคุยกันว่า ถึงเวลานี้การจัดตั้งรัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ได้รัฐบาลใหม่เร็วที่สุด เพราะวันนี้ประเทศมีปัญหามาก ทั้งเรื่องเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไข 

“ตอนนี้เลือกตั้งมาแล้วกว่า 2 เดือน ยังไม่มีรัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา เมื่อพรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคอันดับสองจึงต้องรับไม้ต่อ และรีบดำเนินการ เพราะปัญหาประชาชนรอไม่ได้ โดยหลังจากนี้คงต้องสลาย 8 พรรคร่วมรัฐบาล เพราะผลคะแนนที่ออกมาเห็นชัดว่า กลุ่ม ส.ว. ไม่เห็นด้วยกับการให้ พรรคก้าวไกล เป็นรัฐบาล หากพรรคเพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลก็ต้องแยกตัวออกมา" แหล่งข่าวกล่าว 

ส่วนที่อาจจะมีกระแสโจมตีพรรคเพื่อไทยนั้น การที่พรรคเพื่อไทยอยากมุ่งหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชนก็อาจเจอกระแสโจมตีบ้าง แต่เชื่อว่าเมื่อได้เข้ามาทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ปากท้องประชาชนดีขึ้นแล้ว กระแสเหล่านั้นจะซาลงไป 

“ที่สำคัญเรื่องเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล ต้องชัดเจนให้ได้ก่อนวันที่ 27 ก.ค. เพราะวันดังกล่าว พรรคเพื่อไทย จะเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ซึ่งจากการประชุมรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา เห็นแล้วว่าแคนดิเดตนายกฯ จะโหวตได้แค่ชื่อละหนึ่งครั้ง ถ้ายังมีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ อาจทำให้แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ต้องสะดุดไปด้วย” แหล่งข่าวระบุ