โหวตนายกฯ ลงมติ “งดออกเสียง” มีความหมายอย่างไรต่อผลการประชุม

13 ก.ค. 2566 | 13:24 น.

หลังผ่านการประชุมรัฐสภา เป็นที่เรียบร้อย ผลที่ประชุม ไม่เห็นชอบให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เนื่องจากคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 เสียง และยังมีการ “งดออกเสียง” อีกด้วย

ทำให้คนที่เกาะติดผลการลงมติ "โหวตนายกฯ" คงมีคำถามว่า การออกเสียงลงคะแนนแต่ละประเภทมีความหมายอย่างไร โดยเฉพาะคำว่า "งดออกเสียง" ทำไมถึงงดออกเสียง ในการลงมติ

"งดออกเสียงหมายถึง การที่สมาชิกสภาไม่ออกเสียง หรืองดการแสดงความเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตติหรือข้อปรึกษาที่ต้องมีการลงมติในที่ประชุมสภา

ทั้งนี้การ งดออกเสียง ถือเป็นสิทธิของสมาชิกสภาที่สามารถทำได้ซึ่งไม่ถือว่าขัดข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 แล้วแต่กรณี

คะแนนเสียงที่งดออกเสียงนั้น จะไม่นำมานับรวมเป็นเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จึงไม่มีผลในทาง "สนับสนุน" หรือ "คัดค้าน" ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในกรณีที่ใช้เสียงข้างมากธรรมดาในการชี้ขาดญัตติหรือข้อปรึกษานั้น 

งดออกเสียง กระทำได้ในการประชุมลงมติแบบเปิดเผย และแบบลงมติเป็นการลับ

ลงมติแบบเปิดเผย 

1.การลงมติโดยใช้วิธีการเรียกชื่อสมาชิกสภาเป็นรายบุคคล สมาชิกสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียง ต้องกล่าวคำว่า “งดเว้นการออกเสียงหรืองดออกเสียง” เมื่อเลขาธิการสภาเรียกชื่อตน 

2.การลงมติโดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน สมาชิกสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงจะต้องสอดบัตรและกดปุ่มงดเว้นการออกเสียง 

3.การลงมติโดยใช้วิธีการยกมือพร้อมแสดงบัตรลงคะแนนซึ่งมีเฉพาะในวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงต้องยกมือพร้อมแสดงบัตรลงคะแนนสีขาว

ลงมติเป็นการลับ

1.การลงมติโดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน สมาชิกสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงจะต้องสอดบัตรและกดปุ่มงดเว้นการออกเสียง 

2.การลงมติโดยใช้บัตรออกเสียงลงคะแนน หากเป็นการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเขียนเครื่องหมายกากบาท (x) ลงในช่องทำเครื่องหมายหน้าคำว่างดเว้นการออกเสียงหรืองดออกเสียง แต่หากเป็นการดำเนินการในวุฒิสภาหรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกรัฐสภาที่ประสงค์งดเว้นการออกเสียงต้องเขียนเครื่องหมายวงกลม (O) บนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้

ส่วนเรื่องการ "โหวตนายกฯ" นั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นคนเดิมหรือคนใหม่ แต่เบื้องต้นต้องเป็นคนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดคุณสมบัติครบถ้วน 

สำหรับบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา ต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 คือ ต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5% ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือมีส.ส. มากกว่า 25 คนขึ้นไป