เปิดโฉม 13 ส.ว. โหวตเห็นชอบให้ “พิธา” เป็นนายกฯ

13 ก.ค. 2566 | 11:43 น.

เปิดโฉม 13 ส.ว.โหวตหนุน ให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกคนที่ 30 ทั้ง “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภูมมา - ประภาศรี สุฉันทบุตร - วันชัย สอนศิริ - นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” มาครบ

วันนี้(13 ก.ค. 66 ) ในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย ได้มีการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 
โดยผลการลงมติที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นชอบให้ นายพิธา เป็นนายกฯ 

ทั้งนี้ได้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมโหวตเห็นชอบให้นายพิธา เป็นนากยฯ รวมจำนวน 13 คน ประกอบไปด้วย

1.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์

2.พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภูมมา

3.นายเฉลา พวงมาลัย

4.นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล

5.พล.ต.ท.ณัฏฐวัฒก์ รอดบางยาง

6.นางประภาศรี สุฉันทบุตร

7.นายพีระศักดิ์ พอจิต

8.นายพิศาล มาณวพัฒน์

9.นายมณเฑียร บุญตัน

10.นายวันชัย สอนศิริ

11.นายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์

12.นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ

13.นพ.อำพล จินดาวัฒนะ

นอกจากนั้น ยังพบว่า มีสมาชิกวุฒิสภา ที่ไม่ได้มาลงคะแนน 43 คน ได้แก่ นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา, นายกิตติ วะสีนนท์, นายเจน นำชัยศิริ, นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ, พลเอกชัชวาลย์ สุขสมจิตร์, พลเอกเชวงศักดิ์ ทองสลวย, พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน, พลเอกดนัย มีชูเวท, นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์, นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, พลเรือเอกนพดล โชคระดา, พลเอกนพดล อินทปัญญา, นายบุญมี สุระโคตร, นางเบญจรัตน์ จริยธาราสิทธิ์, นายประมาณ สว่างญาติ, นางประยูร เหล่าสายเชื้อ

พลตำรวจตรีปรัชญ์ชัย ใจชาญสุขกิจ, พลเรือเอกปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ, นายพิทักษ์ ไชยเจริญ, พลเอกไพโรจน์ พานิชสมัย, นางสาวภัทรภร วรามิตร, นายภาณุ อุทัยรัตน์, พลเอกเลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์, พลเอกวราห์ บุญญะสิทธิ์, นายวิชัย ทัตตภักดี, นายศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล, นายศักดิ์ไทย สุรกิจบวร, พลเรือเอกศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายสม จาตุศรีพิทักษ์, นายสมชาย หาญหิรัญ, นายสำราญ ครรชิต, พลอากาศเอกสุจินต์ แช่มช้อย, นางสุนี จึงวิโรจน์, พลอากาศเอกอลงกรณ์ วัณณรถ

พลเอกอักษรา เกิดผล, นายอุดม วรัญญูรัฐ และนายอุปกิต ปาจรียางกูร รวมไปถึงสมาชิกวุฒิสภา ที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้นำเหล่าทัพ โดยที่นางสาวเรณู ตังคจิวางกูร สมาชิกวุฒิสภา ได้ยื่นหนังสือขอลาออก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา

สำหรับการลงมติของ ส.ส. 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลนั้น พบว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เห็นชอบให้นายพิธา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งรวมไปถึงนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 และ 2 เว้นเพียงนายวันมูหะนัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ที่งดออกเสียงเพื่อรักษาความเป็นกลางทางการเมือง 

ส่วนการลงมติของกลุ่มพรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลรักษาการในปัจจุบันนั้น ส.ส.พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้งหมด ลงมติไม่เห็นชอบ, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนากล้า งดออกเสียง

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น นายนพดล มาตรศรี ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ขอเปลี่ยนมติการลงคะแนน เนื่องจาก ได้ขานมติผิดจาก "งดออกเสียง" เป็น "เห็นชอบ" จึงได้ขอแก้ไขในภายหลัง แต่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้ประท้วง เนื่องจาก หากอนุญาตให้ ส.ส.เปลี่ยนคะแนนระหว่างการลงคะแนน ก็อาจจะเป็นบรรทัดฐานการประชุมในอนาคต เพราถือว่า ได้มีการลงคะแนนไปแล้ว ไม่ควรเปลี่ยนได้ จนทำให้ที่ประชุมต้องถกเถียงกัน แต่สุดท้าย นายวันมูหะมัดนอร์ ได้ชี้ขาดว่า สามารถแก้ไขได้ เพราะนายนพดล ได้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนมติแล้ว

 

“ส.ว.พีระศักดิ์” เผยเหตุผลโหวตให้ “พิธา” เป็นนายก ยึดหลักการโหวตให้เสียงข้างมากของ ส.ส.

นายพีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยเหตุผลที่โหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า โหวตตามหลักการเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีใครสามารถแทรกแซงตนเองได้

ส่วนกรณีข้อกังวลเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และข้อกล่าวหาในการแบ่งแยกดินแดนที่นายพิธาและพรรคก้าวไกล ถูกกล่าวหานั้น

นายพีระศักดิ์ มองว่าในการแก้ไขมาตรา 112 เป็นขั้นตอนหลังจากนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการโหวตนายกรัฐมนตรี และเสียงของพรรค ก้าวไกล มี 151 เสียงหากพรรคการเมืองอื่นไม่เห็นชอบด้วย กฎหมายนี้ก็จะไม่ผ่าน

ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องของการแบ่งแยกดินแดนนั้นตนเองเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญไทยบัญญัติชัดเจนว่าราชอาณาจักรไม่สามารถแบ่งแยกได้

นายพีระศักดิ์ ยังระบุว่า อยากให้นายพิธา บริหารงาน เพื่อประเทศเพราะได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนมาแล้ว รวมถึงทำความเข้าใจกับประชาชนที่มาชุมนุมไม่ให้มีการกดดันหรือเสี่ยงต่อการเกิดความวุ่นวาย 

หากครั้งนี้นายพิธามีคะแนนเสียงไม่พอในการเป็นนายกรัฐมนตรีและมีการนัดหมายโหวตครั้งหน้าหรือไม่ นายพีระศักดิ์ระบุว่า เป็นอำนาจของประธานรัฐสภาในการพิจารณา