"วันนอร์" แนะทางออก ศึกชิง"ประธานสภา" ไม่ควรให้คนข้างนอกรู้ว่าขัดแย้ง

26 พ.ค. 2566 | 08:41 น.

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ แนะทางออก ศึกชิง"ประธานสภา" ปมขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ควรตกลงกันให้ได้ อย่างให้ความขัดแย้งออกสู่ภายนอก ส่งผลกระทบด้านความเชื่อมั่น

จากกรณีความขัดแย้งเรื่องตำแหน่งประธานสภา ระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ที่อาจกลายเป็นจุดแตกหักของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค 312 เสียง เนื่องจากทั้ง 2พรรคต่างแสดงท่าทีว่าต้องการตำแหน่งประธานสภาอย่างไม่อ่อนข้อ 

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะทางออกสำหรับเรื่องดังกล่าวไว้ว่า ในมุมของพรรคเพื่อไทย เมื่อพรรคก้าวไกลได้อำนาจฝ่ายบริหารแล้ว พรรคเพื่อไทยก็อยากได้ฝ่ายนิติบัญญัติ ควรต้องคุยกันให้ได้ โดยมีทางเลือกหลายทาง หรืออาจตกลงให้พรรคอันดับอื่นเป็นประธานสภา เช่นนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา  หัวหน้าพรรคประชาชาติ 

เพื่อไทย ก้าวไกล ชิงประธานสภา

ซึ่งแนวทางนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้แสดงความเห็นด้วย เนื่องจากเป็นผู้มีความอาวุโส และเคยเป็นประธานสภามาแล้ว รู้กฎระเบียบ พร้อมยกตัวอย่างการเลือกตั้งปี 2562 พลังประชารัฐ ได้ 118 เสียงได้ตำแหน่งนายกฯ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ 58 เสียง ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ 

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ทุกครั้งก็จะมีการตกลงชื่อบุคคลก่อนเข้าไปสู่การโหวต และตามธรรมเนียมส่วนมากก็เป็นพรรคอันดับ 1 ที่จะมานั่งทำหน้าที่ประธานสภาฯ 

นอกจากในบางครั้งที่มีความจำเป็นเท่านั้นอาจจะไม่ใช่พรรคอันดับ 1 ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อย ส่วนพรรคอันดับ 2 ที่ร่วมรัฐบาลและไม่ได้เป็นประธานสภาฯ จะได้โควตารองประธานสภาฯคนที่ 1 และพรรคอันดับ 3 จะถูกวางตัวเป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ตามลำดับ 

ซึ่งยังมีเวลาจนกว่าจะมีการรับรอง ส.ส.ทั้ง 500 คน ควรจะคุยกันภายในให้ตกลงกันได้ระหว่างหัวหน้าพรรค -เลขาธิการพรรค ของทั้งสองฝ่าย ไม่ควรจะเอาความขัดแย้ง ไปกระจายออกข้างนอก เพราะประชาชนมีความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศและต่างประเทศได้ ถ้ามัวทะเลาะกันความเชื่อมั่นก็จะลดไป ใครเป็นประธานสภาฯตนก็ยินดีทั้งสิ้น พร้อมจะให้คำปรึกษาหากช่วยเหลือได้

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ

ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้เปิดเผยถึงความสำคัญ และคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นประธานสภาว่า ต้องทำหน้าที่ประสานงานกับสมาชิกทุกพรรคการเมือง  ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม  และเป็นตัวแทนของรัฐสภาทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

จึงต้องมีความเหมาะสมในหลายประการ เพราะเป็นเบอร์หนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ เรื่องประสบการณ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  แต่ความตั้งใจย่อมสำคัญกว่า บุคลิกภาพการวางตัวก็สำคัญ ส่วนวัยวุฒินั้น ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับยุคสมัยนี้ เดี๋ยวนี้คนหนุ่มคนเก่งเยอะ อาจจะดีกว่าผู้สูงอายุด้วยซ้ำไป 

งานแรกของประธานสภาฯคนใหม่คือการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ตัวเองได้รับการโปรดเกล้าฯแล้ว ซึ่งจะต้องนำกฎหมาย ข้อบังคับมาใช้ การดำเนินตามระเบียบวาระ ไปจนถึงการประชุมตลอด 4 ปีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะถ้าทำหน้าที่ไม่คล่องตัวหรือไม่ได้รับความเชื่อถือ การประชุมก็จะขรุขระได้