งัดปม "ปิยบุตร"ชี้นำ ครอบงำเก้าอี้ประธานสภาฯ ยื่นกกต.ยุบพรรคก้าวไกล

26 พ.ค. 2566 | 06:20 น.

“ศรีสุวรรณ-สนธิญา”ยื่นกกต.สอบยุบพรรคก้าวไกล ปม"ปิยบุตร" ชี้นำยึดเก้าอี้ประธานสภาฯ เข้าข่ายขัด ม. 28-29 พรป.พรรคการเมือง 2560 สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

วันนี้ (26 พ.ค.66) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2566 ได้ยื่นให้ กกต.ตรวจสอบ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กระทำการชี้นำพรรคก้าวไกล เข้าข่ายขัดมาตรา 28 และ มาตรา29  พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 

โดยนายศรีสุวรรณ ระบุว่า ในวันที่22 พ.ค. นายปิยบุตร ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด พร้อมอธิบายเหตุผลมากมาย

 

ต่อมาว่าที่ ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ต่างออกมาให้สัมภาษณ์และหรือโพสต์ข้อความแสดงความเห็นเพื่อยืนยันว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องเป็นของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ลงในสื่อสังคมออนไลน์มากมาย อาทิ นายรังสิมันต์ โรม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

“การที่ว่าที่ ส.ส.คนใดจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.ทั้ง 500 คน ที่ประชาชนเลือกตั้งเข้าไป ไปเลือกกันเองว่าท่านใดจะมีความเหมาะสม เพราะทุกคนน่าจะมีวิจารณญานตัดสินใจได้เอง ไม่จำต้องมีใครมาชี้นำ  

แต่ นายปิยบุตร  โพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ลักษณะดังกล่าว ทำให้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากพยายามชี้นำความคิดและการกระทำของเหล่าว่าที่ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ให้ต้องช่วยกันผลักดันหรือกดดันให้พรรคร่วมต่าง ๆ ยินยอมให้ตำแหน่งประธานสภาฯเป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น"

นอกจากนี้วันที่ 25 พ.ค.66 น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ยังได้ออกมาโพสต์สำทับถึงข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า “ก้าวไกลต้องการเป็น #ประธานสภา เพื่อผลักดันวาระก้าวหน้าในสังคม” อีกด้วย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าบุคคลทั้งสอง ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคก้าวไกล กลับมีพฤติการณ์ หรือ กระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือ ชี้นํากิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมือง หรือ สมาชิกขาดความอิสระทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

รวมทั้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลออกมาเคลื่อนไหวสอดรับกับการชี้นำของบุคคลทั้งสอง จึงต้องนำพยานหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมให้ กกต. เพื่อนำไปตรวจสอบ และวินิจฉัยประกอบคำร้องเดิมที่เคยชี้เบาะแสไว้แล้ว หาก กกต.วินิจฉัยว่าเป็นไปตามที่ร้อง ก็สามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ตามมาตรา92(3) ได้

                             ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่น กกต.

วันเดียวกัน นายสนธิญา สวัสดี ก็ได้เข้ายื่นคำร้องต่อกกต.ขอให้ตรวจสอบและส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย จากกรณี 

1.นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กแสดงความคิดเห็นให้พรรคก้าวไกลจะต้องยึดตำแหน่งประธาน สภาผู้แทนราษฎรเป็นของพรรค ซึ่งประเด็นประธานสภาผู้แทนราษฎรจะอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่งนั้นเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ที่จะต้องเลือกกันเอง 

“คนก็ตั้งข้อสังเกตว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หมายถึง ประธานรัฐสภาด้วย หมายความว่า ประธานสภาฯ  ก็เป็นประธานวุฒิสภาด้วย มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของประธานวุฒิสภา ซึ่งเหลืออายุอยู่ประมาณปีกว่าๆ 

ขณะเดียวกันพรรคก้าวไกล ก็ดำเนินการสอดคล้องกับที่ นายปิยบุตร โพสต์ และไม่ได้ออกมาปฏิเสธ จึงอนุมานได้ว่าการการกระทำของ นายปิยบุตรเป็นการชี้นำครอบงำ และพรรคก้าวไกล ยอมรับต่อการชี้นำ ครอบงำนั้นซึ่งเข้าข่าย พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 28 มาตรา 29 และเป็นเหตุนำไปสู่การถูกยุบพรรคได้ตามมาตรา 92 (3) ได้”

2 .กรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เดินทางไปเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตรและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประเทศสิงคโปร์ ตนมองว่าการไปเยี่ยมบิดา หรือผู้มีพระคุณนั้นสามารถทำได้ แต่ขณะนี้ น.ส.แพทองธาร ยังเป็นแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพฤติกรรมต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่งเข้าลักษณะตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 45 ที่มีโทษตามมาตรา 92 (3 )  เช่นกัน

จึงขอให้ กกต.พิจารณาและส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติของว่าที่แคนดิเดตนายกฯ หรือว่าที่นายกฯ ต่อไปในอนาคตด้วย 

“ส่วนตัวผมยังมั่นใจว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรรคก้าวไกลเข้าไปไม่สามารถที่จะทะลุผ่านเข้าไปสู่กระบวนการโหวตเป็นนายกฯ ได้ แล้วแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย คนที่ 1 ก็คือ น.ส.แพทองธาร ซึ่งมีหลายคนที่ออกมาวิเคราะห์กรณี น.ส.แพทองธาร เดินทางไปเยี่ยมพ่อ ในช่วงเวลาสถานการณ์อย่างนี้ โดยจริยธรรม คุณธรรมและมารยาท หรือกฎหมาย ไม่น่ากระทำการโดยเปิดเผย

เพราะการไปเยี่ยมในช่วงมีตำแหน่ง หรือ เป็นแคนดิเดตนายกฯ นั้น อธิบายไม่ได้ในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ที่ถูกศาลไทยพิจารณาให้จำคุกไปแล้ว "

เมื่อถามถึงการถือหุ้นสื่อของนายพิธา นายสนธิญา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่าต้องถือจำนวนเท่าใด แต่เขียนเพียงว่า ผู้ลงสมัครส.ส.ห้ามมีหุ้น ซึ่งนายพิธา ก็เพิ่งมาแจ้งต่อป.ป.ช. จึงอยากวิงวอน นายพิธา และพรรคก้าวไกล เพราะตั้งแต่ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยเสียงข้างมาก ตลาดหุ้นไทยตก ผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศก็ถอนหุ้นออกไปเกือบแสนล้านบาท ด้วยความไม่ชัดเจน ตนเป็นกำลังใจให้นายพิธา และพรรคก้าวไกล

แต่เห็นว่าหลายเรื่องควรคลี่คลายให้ชัดเจน ก่อนที่ นายพิธา จะรับตำแหน่งนายกฯ หากได้รับการโหวตเป็นนายกฯ แล้วศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย และสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จะไม่เป็นผลดีต่อพรรคก้าวไกล และประเทศ จึงต้องการให้ดำเนินการเรื่องนี้ให้จบเสียก่อน