ชำแหละท่าทีส.ว. ใครหนุน-ใครค้าน "พิธา"นั่งนายกฯ

16 พ.ค. 2566 | 09:03 น.

จับท่าที"ส.ว" ใครจะโหวตหนุน -ค้าน"พิธา"นั่งนายกฯ อีกกลุ่มยังสงวนท่าที อ้างรอดูความชัดเจนหลังจัดตั้งรัฐบาล

ประเด็นร้อนทางการเมือง หลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล309 เสียง ร่วมกับ 6 พรรคขั้วฝ่ายค้านเดิม   และพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30  ของไทย

แต่นายพิธา ยังต้องลุ้นหนัก เพราะต้องใช้เสียงโหวตนายกฯในที่ประชุมรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่งของส.ส และส.ว. คือ 376 เสียง   ซึ่งมีเสียงที่ขาดหายไปอีก กว่า 60 เสียง ต้องใช้เสียงของ ส.ว.และส.ส.จากซีกฝ่ายค้านมาเติม

ขณะที่ ส.ว.ยังมีความเห็นที่หลากหลาย  มีทั้งสนับสนุน  และไม่เห็นด้วย ฝ่ายสนับสนุนอ้างเสียงฉันทามติจากประชาชนส่วนใหญ่   กลุ่มไม่เห็นด้วยดาดเป็นส.ว.กลุ่มใหญ่ที่ใกล้ชิดกับขั้วอำนาจเก่า  และกลุ่มยังไม่ตัดสินใจ   
 

กลุ่มหนุน ชี้เคารพเสียงประชาชน

 ในบรรดา ส.ว.ที่แสดงท่าทีชัดเจนพร้อมโหวตเลือกนายกฯจากพรรคเสียงข้างมาก อาทิ  นายวันชัย สอนศิริ  ที่ประกาศว่า  ส.ว. ไม่ใช่คนที่จะต้องเสนอใครมาเป็นนายกฯ อยู่ที่ ส.ส.ก่อน  ส่วน ส.ว.อยู่ข้างหลัง 

 นายวันชัย สอนศิริ  ส.ว.

“ส่วนตัวยังยืนยันในหลักการเดิม หากพรรคการเมือง สามารถประสานและรวมกันได้เสียงข้างมาก ผมก็ไม่ขัดข้อง ยืนยันใช้หลักการเดิม แต่ยอมรับว่าต้องนำเรื่องอื่นๆ มาประกอบ ซึ่งโดยหลักแล้วเคารพเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ”

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประกาศชัดเจนว่า “ผมว่าผมชัดเจนมาโดยตลอดนะครับได้ให้สัมภาษณ์มาแต่ครั้ง มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น 1 ใน 23 สว.ที่ปิดสวิตช์ตนเองในการใช้สิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีแต่การที่สื่อนำไปลงสั้นๆ แค่นั้น น่าจะยังไม่ชัดเจนพอ

"ใครรวมได้เสียงข้างมาก" เกิน 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เป็นนายกฯ ได้เป็นรัฐบาลครับ ไม่มีใครขวางได้หรอกครับ
เพราะครั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกก็ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ รวมเสียงได้เกิน 250 เสียง คราวนี้ก็ยึดหลักการเดียวกัน จบนะครับคนถูกใจก็ไม่ต้องเขียนมาชม คนผิดหวังก็ไม่ต้องเขียนมาด่า นะครับ”

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.

 

นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน กล่าวว่า พรรคที่จะเป็นรัฐบาลต้องไปหาเสียงให้ได้ 376 เสียงเองก่อน อย่ามาหวังพึ่งเสียงส.ว. ไปเอาพรรคภูมิใจไทย มารวมก็ได้แล้ว เพื่อจะได้ปิดสวิตซ์ ส.ว. ไปเลย ปัจจัยของส.ว. ไม่ใช่เรื่องเสียงที่ได้รับจากประชาชนหรือเสียงข้างมากอย่างเดียว ต้องดูว่าใครตั้งส.ว.ชุดนี้ และมีที่มาอย่างไร ส.ว.ก็แบ่งเป็นกลุ่มๆ แต่ส.ว.กลุ่มอิสระ มีไม่ถึง 20 คน แต่เวลาลงมติ ก็ไม่รู้จะอิสระจริงหรือไม่

นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน
เช่น กรณีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจส.ว.โหวตนายกฯ มี 23 ส.ว.เห็นด้วย แต่กลุ่มนี้อาจงดออกเสียงลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จะเอาส.ว.23 คนมาบอกว่า โหวตตามเสียงข้างมากไม่ได้ ดังนั้นต้องรวมเสียงให้ได้ 376 เสียง ไม่เช่นนั้นก็ผ่านไม่ได้ ถ้ารัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไม่ได้ พรรคร่วมรัฐบาลต้องไปหาพรรคอื่นมารวมให้ได้ 376 เสียงเพื่อเลือกครั้งที่2 อีกครั้ง แต่จุดยืนส่วนตัวชัดเจนว่า หากฝ่ายใดรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250เสียง จะโหวตให้ฝ่ายนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นคนพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ก็พร้อมโหวตให้ แต่ส.ว.คนอื่นไม่กล้าการันตีจะคิดแบบเดียวกันหรือไม่

ทั้งนี้ ส.ว. ที่รับหลักการร่างแก้ไขมาตรา 272  ตัดอำนาจ ส.ว. ประกอบด้วย1.นายคำนูณ สิทธิสมาน  2. นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ 3.นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน 4.นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 5.นางประภาศรี สุฉันบุตร 6.นายประมนต์ สุธีวงศ์ 7.พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ 8.นายพิศาล มาณวพัฒน์ 9.นายมณเฑียร บุญตัน 10.นายวันชัย สอนศิริ
 

11.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ 12.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย 13.นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล 14.นายอำพล จินดาวัฒนะ  15.นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 16.พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม 17.นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ 18.นายบรรชา พงศ์อายุกูล 20.นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ 21.นายสม จาตุศรีพิทักษ์ 22.นายสมชาย เสียงหลาย และ23.นายสุวพันธุ์ ตัณยุวรรธนะ 

กลุ่มค้าน “พิธา”นั่งนายกฯ

ขณะเดียวกัน มี ส.ว.กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการนั่งเก้าอี้นายกฯของนายพิธา อาทิ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ  กล่าวว่า เมื่อถึงขั้นตอนเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ส.ว.จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  คือจะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์เป็นหลัก

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ

ถ้าใครมีคุณสมบัติตรงนี้ ส.ว.จะพิจารณา ซึ่ง ส.ว.ทุกคนมีคุณวุฒิ วัยวุฒิที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองได้ แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลหรือองค์กรอิสระต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติทุกคนทุกองค์กร และทิศทางของการโหวตส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมาเกือบจะเอกฉันท์ แน่นอนอาจมีบางส่วนเห็นต่างก็งดออกเสียงหรือโดดไปฝ่ายตรงข้ามก็เคยมี เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีทั้ง ส.ว.เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

นายจเด็จ อินสว่าง  พูดชัดเจนว่า ตนเองได้กล่าวคำปฏิญาณตนตอนเข้ารับหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ที่มาตรา 6 ไว้ว่า เราต้องมีหน้าที่รักษาระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฯ
 

และมาตรา 50(1)ก็บัญญัติไว้ว่าหน้าที่ของปวงชนชาวไทยคือต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งพรรคก้าวและนายพิธาได้เคยประกาศในการที่จะเลิกมาตรา 112 ซึ่งกระทบกระเทือนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะด้อยค่าสถาบันฯ ที่เรารับไม่ได้

“ด้วยเหตุผลที่กล่าวข้างต้น สำหรับผม ก็คือไม่เห็นชอบ ซึ่งแม้เขาจะรวมเสียงส.ส.มาได้เท่าไหร่ก็ตาม จะเป็น 309 เสียงของสภาฯ อย่างที่แถลงไว้หรือจะไปถึง 376 เสียงก็แล้วแต่ ที่หากได้ถึง 376 ก็ไม่ต้องมาพึ่งสว. แต่หากได้มาสัก 309 เสียง ก็ยังต้องถามสว. ซึ่งส่วนตัวผม ถ้าเสนอชื่อมาเป็นนายพิธา ผมไม่รับ จะลงมติไม่เห็นชอบเพราะผมจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและคำปฏิญาณ “นายจเด็จกล่าว

นายเสรี สุวรรณภานนท์

กลุ่มรอความชัดเจน

นอกจากนี้ มีส.ส.ที่รอดูความชัดเจน ของพรรคการเมืองที่จะจับมือตั้งรัฐบาลก่อน อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์     โดยกล่าวว่า ต้องรอติดตามเพราะ ส.ว. ไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ เพราะแต่ละพรรคมีเงื่อนไขที่ต้องพูดคุยว่าจะรับกันได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี คิดว่าเงื่อนไขของพรรคการเมืองต่างๆ จะไม่ทำให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง หรือก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการเมือง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นที่ ส.ว. ร่วมสนับสนุน ขณะที่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อาจทำให้เกิดเรื่องได้ เพราะมีคนไม่เห็นด้วย
“รอดูความชัดเจนของพรรคการเมืองที่จะจับมือตั้งรัฐบาลก่อน” นายเสรี กล่าว

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กล่าวว่า ยังไม่ขอตอบเรื่องการตัดสินใจโหวตนายกรัฐมนตรี เพราะยังไม่มีความชัดเจนใครจะรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้นายพิธา จะชักชวนตั้งรัฐบาล 310เสียง จาก6พรรคการเมือง แต่ก็ถือว่ายังไม่ชัดเจน เพราะยังไม่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ดังนั้นอย่าเพิ่งไปคาดเดาอะไรกัน รอให้มีความชัดเจนก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ หากส.ว.พูดอะไรมากไปตอนนี้ก็มีแต่ตกเป็นเหยื่อ ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะทุกอย่างยังไม่แน่นอน