ศรีสุวรรณ จี้ กกต.สอบปมบัตรส่วนลด ส่อเข้าข่ายช่วยพรรคดังหาเสียง

09 พ.ค. 2566 | 07:15 น.

ศรีสุวรรณ ร้อง กกต. สอบปม "บัตรส่วนลด" ส่อเข้าข่ายซื้อเสียง เอื้อพรรคการเมืองชื่อดัง ซ้ำพบร้านค้ากรอกข้อมูลเข้าข่ายช่วยหาเสียง ชี้ต้องถูกคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งส่งแจ้ง กกต. หากไม่ดำเนินการมีโทษหนัก

9 พฤษภาคม 2566 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเข้ายื่นหนังสื่อร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อขอให้ไต่สวนในกรณี โค้ดบัตรส่วนลด ของกิจการร้านค้าบางแห่งที่มอบให้กับลูกค้าที่ไปซื้อขายสินค้าและบางแห่งในสลิปการจ่ายเงิน ปรากฏข้อความการช่วยหาเสียงให้กับพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ ระบุว่า มีประชาชนส่งพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเข้ามาที่ตนเป็นจำนวนมากซึ่งสมาคมฯ เห็นว่าเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ตามกฎหมายในหลายประเด็น 

ประเด็นแรก คือ การที่มีผู้ทำบัตรลด แลก แจก แถม ให้กับพรรคการเมืองสีส้มซึ่งก็เป็นประเด็นว่า การที่ห้างร้าน สถานประกอบการ ทำบัตรลดให้กับพรรคการเมืองเพื่อจูงใจให้ไปเลือกตั้งพรรคดังกล่าว จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 73 (1) และ (5) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 หรือไม่  

เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า ห้ามบุคคลใด หรือผู้สมัคร ดำเนินการให้ จัดทำให้ หรือผลประโยชน์อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินได้ ให้แก่บุคคลใด หรือใน (5) ห้ามมิให้บุคคลใดจูงใจให้บุคคลอื่นมาเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด การทำบัตรส่วนลดให้กับผู้ที่ซื้อขายสินค้า และบริการ อาจจะเข้าข่ายในความผิดนี้หรือไม่ 

ประเด็นที่ 2 พบว่า มีสถานบริการ กิจการขายของ พิมพ์ข้อความลงในใบเสร็จรับเงินของร้านว่า วันที่ 14 พ.ค. ขอให้ช่วยไปกาเบอร์นี้ พรรคสีส้ม การกระทำดังกล่าวเป็นการช่วยหาเสียงโดยชัดเจน การช่วยหาเสียงเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ในกรณีดังกล่าวต้องถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่บุคคล หรือห้างร้านดังกล่าวต้องไปคิดคำนวณค่าใช้จ่าย เป็นค่าใช้จ่ายการเลือกตั้ง

โดยหลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. ไปแล้ว ต้องมารายงาน กกต. ภายใน 90 วัน หากไม่ดำเนินการ หรือพรรคการเมืองดังกล่าวไม่นำหลักฐานมาชี้แจง หัวหน้าพรรคการเมืองดังกล่าวก็จะมีความผิดตาม พ.ร.ป การเลือกตั้ง ซึ่งมีโทษปรับ 20,000-100,00 บาท จำคุก 1-10 ปี และอาจจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองอย่างน้อย 20 ปี เป็นหน้าที่ของกกต.ที่ต้องไปสืบข้อเท็จจริง 

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เป็นโทษอาญาของกฎหมายเลือกตั้งปี 61 โดยทั่วไป กำหนดไว้ว่าถ้ามีการฝ่าฝืน ผู้ใดที่ฝ่าฝืนก็อาจมีความผิด มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท และเว้นวรรคทางการเมืองไม่เกิน 10 ปี แต่ถ้าพรรคการเมืองปฏิเสธว่า ไม่รู้เห็นในกรณีดังกล่าวก็เป็นเรื่องของผู้ที่จัดทำขึ้นมาต้องรับผิดชอบ