ไม่ได้ไปเลือกตั้งล่วงหน้า ต้องแจ้ง กกต. ทำตามนี้

08 พ.ค. 2566 | 09:09 น.

ไม่ได้ไปเลือกตั้งล่วงหน้า ต้องแจ้ง กกต. ผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม 2566 หากไม่ได้เดินทางไปใช้สิทธิ ต้องแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิภายใน 7 วัน ให้ทำตามนี้

การเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา แม้จะมีหลายเหตุการณ์ที่นำมาสู่แฮชแท็ก มีกกต.มีไว้ทำไม และ กกต.ควรติดคุก ก็ตาม แต่ตามกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. 2561 ระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เนื่องจาก มีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วัน หลังจากวันเลือกตั้ง ตามมาตรา 33

แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ แต่ไม่ได้เดินทางไปลงคะแนนในวันที่  7 พฤษภาคม 2566 จะไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ได้อีก และต้องแจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิ ตามช่องทางดังต่อไปนี้ 

2 ช่องทาง แจ้งเหตุ ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

1. แจ้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งผ่านช่องทางออนไลน์

แจ้งเหตุ ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

  • ผ่านแอปพลิเคชั่น Smart Vote หัวข้อ "การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์"

โดยผู้แจ้งต้องกรอกข้อมูล ผ่านช่องทางออนไลน์ให้ถูกต้องครบถ้วน ได้แก่

  • เลขประจำตัวประชาชน
  • รหัสหลังบัตรประชาชน
  • ชื่อ-นามสกุล
  • วัน เดือน ปีเกิด

จากนั้นปฏิบัติตามขั้นตอนที่ปรากฏ เมื่อทำการยืนยันข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแจ้งเหตุจำเป็นที่เราไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้โดยอัตโนมัติ แล้วให้ผู้แจ้งทำการสั่งพิมพ์แบบการแจ้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือจัดเก็บสำเนาข้อมูลไว้ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นหลักฐาน

2. แจ้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งผ่านเจ้าหน้าที่

ให้ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ แจ้งเหตุต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน โดยทำเป็นหนังสือ ระบุเลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน

ทั้งนี้ ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง คือวันที่ 7-13 พฤษภาคม และ 15-21 พฤษภาคม 2566 หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เสียสิทธิดังต่อไปนี้ 

  • ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  • ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นส.ว. 
  • สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  • ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  • ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น