เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 กทม. สรุปประชาชนใช้สิทธิเกิน 90%

08 พ.ค. 2566 | 10:43 น.

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) สรุปผลเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 กทม. ประชาชนใช้สิทธิเกิน 90% ทั้งเลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง และเลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้ง พบ 3 ปัญหาต้องเร่งแก้ไข

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกทม. ว่า ได้หารือและเน้นย้ำเรื่องการเลือกตั้ง โดยภาพรวม "การเลือกตั้งล่วงหน้า" เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 66 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ประชาชนตื่นตัวในการออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก 

สำหรับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ มีประชาชนมาใช้สิทธิ 2 รูปแบบ ดังนี้

1.เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง จำนวนผู้ลงทะเบียน 5,179 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 4,956 คน คิดเป็น 95.69% 

2.เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้ง จำนวนผู้ลงทะเบียน 811,156 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 744,687 คน คิดเป็น 91.81%

ส่วนของที่เลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ จำนวนผู้ลงทะเบียน 212 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 208 คน คิดเป็น 98.11% มากกว่าการเลือกตั้งในครั้งก่อน ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีและหวังว่าการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 66 ประชาชนจะออกมาลงคะแนนกันอย่างถล่มทลาย 

พบ 3 ปัญหาเลือกตั้งล่วงหน้า

นายชัชชาติ ระบุว่า ปัญหาที่พบ เรื่องแรก สภาพอากาศในพื้นที่จัดการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ร้อนจัด ประกอบกับประชาชนให้ความสนใจและเดินทางมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้วันที่ 14 พ.ค. นี้ มีการติดตั้งพัดลม มีน้ำดื่มให้บริการ จัดจุดรอของประชาชน ทั้งนี้ ในอนาคต (การเลือกตั้งครั้งต่อไป) จะต้องมีการปรับเรื่องการใช้สถานที่ เช่น ใช้สถานที่ของเอกชน ห้างสรรพสินค้า เพราะสะดวกในเรื่องของเครื่องปรับอากาศ ที่จอดรถ การเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า เป็นต้น 

เรื่องที่สอง การให้ข้อมูลแก่ประชาชนให้ชัดเจน เนื่องจากมีประชาชนสับสนในเรื่องกระบวนการที่ต้องหาชุดว่าลงที่ไหนอย่างไร เช่น หน่วยที่วัดธาตุทอง ซึ่งมีประชาชนต่อว่าเล็กน้อย แต่ช่วงหลังเจ้าหน้าที่ได้มีการปรับให้ดีขึ้นแล้ว

เรื่องที่สาม การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางเขตห้วยขวาง มีกรณีเจ้าหน้าที่ไม่ได้กรอกรหัสเขตเลือกตั้งหน้าซองใส่บัตรเลือกตั้ง ซึ่งผู้มาใช้สิทธิได้ทำการทักท้วง และเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการแก้ไขตามที่ได้มีการทักท้วงแล้ว รวมถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางเขตดินแดง มีกรณีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสำคัญผิด กรอกเลข “เขตเลือกตั้งที่....” ซึ่งเป็นเลขประจำเขตเลือกตั้งของเขตดินแดงบนหน้าซองของผู้มาใช้สิทธิ โดยไม่ได้กรอกเลขให้ตรงตามเลขเขตเลือกตั้งของผู้มาใช้สิทธิ

ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ได้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง โดยกระทำต่อหน้าผู้ทักท้วง สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งผู้ทักท้วงไม่ติดใจ พร้อมลงลายมือชื่อในแบบทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (ส.ส. 5/10) และกรรมการประจำหน่วยได้รายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง (ส.ส. 5/6) เป็นที่เรียบร้อยตามกระบวนการแล้ว อย่างไรก็ตาม ความคลาดเคลื่อนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจังต่อไป

รับมือน้ำท่วมในวันเลือกตั้ง

นอกจากการเน้นย้ำเรื่องการรับมืออากาศร้อนที่ให้ทุกหน่วยเลือกตั้งต้องมีการจัดเตรียมพัดลม เต็นท์ น้ำดื่ม และสถานที่จอดรถให้ดีแล้ว ยังได้เน้นย้ำเรื่องการป้องกันน้ำท่วมด้วย เนื่องจากจะมีพายุฤดูร้อนเข้ามา ซึ่งอาจจะมีฝนตกตลอดในพื้นที่ ต้องระวังไม่ให้เกิดน้ำท่วมขัง และได้แจ้ง 50 เขต สำรวจจุดอ่อนน้ำท่วมหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่ตนเองทั้งหมดและจัดเตรียมหน่วยเร่งด่วนเพื่อเข้าช่วยเหลือให้ทันท่วงทีหากมีสถานการณ์ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการลงคะแนนของประชาชน

รายงาน กกต. ถ่ายทอดสด CCTV

ส่วนกรณีของกล้อง CCTV ห้องมั่นคง (ห้องเก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า) ทั้ง 33 เขตเลือกตั้ง ได้เปิดให้ติดตามทางออนไลน์ผ่านลิงก์ ซึ่งจะมี 3 เขต ที่ไม่มีการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต ได้แก่ หนองจอก มีนบุรี สะพานสูง โดยในช่วงเช้าวันนี้ได้มีการแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวของ 3 เขตนี้เข้ามาค่อนข้างมาก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดห้องเพราะเห็นว่าเป็นห้องที่ไม่มีหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า

นอกจากนี้ เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. ที่เขตคลองสาน พบการแจ้งเตือนการเคลื่อนไหว จึงได้โทรศัพท์สอบถามผู้อำนวยการเขตว่าเกิดอะไรขึ้น ได้ความว่าเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้ามาผลัดเปลี่ยนเวร จึงได้กำชับไปว่าไม่จำเป็นห้ามเข้า จะเห็นได้ว่า CCTV และระบบตรวจจับการเคลื่อนไหว (Motion Detect) มีข้อดีคือสามารถตรวจจับได้ตลอดเวลา และแจ้งเตือนทันทีเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่เรากำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้ 

"เรื่องนี้จะให้ปลัดกทม.  รายงานไปยัง กกต. ว่า กทม.ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง เช่น ติดตั้งกล้องอย่างไร เปิดให้ประชาชนติดตามผ่านออนไลน์อย่างไร ซึ่งจากที่อ่านยังคงเป็นไปตามข้อแนะนำที่เป็นลายลักษณ์อักษรของ กตต. ทั้งนี้ เพื่อให้ทาง กกต. ได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าการเปิดภาพ CCTV ให้ประชาชนสามารถติดตามออนไลน์ได้มีข้อขัดข้องหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน"