หวั่นขัดแย้งซ้ำวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้นำธุรกิจจี้ทุกฝ่ายยอมรับผลเลือกตั้ง

06 พ.ค. 2566 | 06:21 น.

โค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง ผู้นำเอกชนหวังหลังเลือกตั้งได้รัฐบาล-นายกฯใหม่เร็ว มีเสถียรภาพ และไม่สร้างความขัดแย้ง เพื่อฟันฝ่าปัญหาทั้งภายในและเวทีโลก

เข้าสู่โค้งสุดท้ายการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แต่ละพรรคปรับกลยุทธ์ วางหมากตัวสุดท้ายเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงอย่างเข้มข้นเร้าอุณหภูมิร้อนการเมืองพุ่ง ผู้นำเศรษฐกิจธุรกิจ เริ่มหวั่นสังคมไทยกลับไปตกหล่มความขัดแย้ง หวังจัดตั้งรัฐบาลเร็ว มีเสถียรภาพ เพื่อเร่งลงมือทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ที่ถูกรุมเร้าด้วยปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและจากตลาดโลก

ตั้งเร็ว มีเอกภาพ ไม่ปลุก“ขัดแย้ง”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในมุมมองภาคเอกชน ไม่กังวลว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวหรือรัฐบาลผสมหลายพรรค ที่ผ่านมาเคยมีรัฐบาลผสมสามารถบริหารประเทศไปได้ เพราะนโยบายของแต่ละพรรคใกล้เคียงกันขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกันได้

สิ่งสำคัญที่สุด อยู่ที่การจัดตั้งรัฐบาลที่รวดเร็ว เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และไม่สร้างความขัดแย้งในอนาคต ส่วนตัวนายกรัฐมนตรี ควรต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการความท้าทาย และสร้างโอกาสใหม่ใหม่ให้กับประเทศ มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายชัดเจน ให้ไทยแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถดึงสรรพกำลังทุกภาคส่วน เชื่อมโยงการทำงานให้ไปในทางเดียวกัน มีทีมงานสนับสนุน ที่สำคัญสามารถทำงานร่วมกับทุกพรรคไปขับเคลื่อนและปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนในเวทีโลก นายกฯที่อยากเห็น ต้องสามารถกำหนดจุดยืนและบทบาทของประเทศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องเร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบด้านสร้างการมีส่วนร่วมในสังคม เพื่อลดความขัดแย้ง และนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ

หวั่นขัดแย้งซ้ำวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้นำธุรกิจจี้ทุกฝ่ายยอมรับผลเลือกตั้ง

ประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุด้วยว่า 2 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข คือ นโยบายฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่พรรคได้หาเสียงไว้ ต้องทำทันที อาจต้องปรับปรุงงบฯรายจ่ายใหม่ต้องเร่งให้เสร็จ เพื่อให้เม็ดเงินต่างๆ เข้าระบบ เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดอย่างรวดเร็ว

อีกประการคือการบริหารจัดการราคาพลังงานต่างๆ และต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ค่านํ้า ค่าแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
 “หลังการเลือกตั้งไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล ภาคเอกชนอยากเห็นทุกฝ่ายยอมรับในผลการเลือกตั้ง ไม่สร้างความขัดแย้งใหม่ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปอย่างมีเสถียรภาพ”

ปัญหารุมหนัก 2-3 ปีนี้ยังเหมือนเดิม

นายไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานคณะกรรมการ สยามพาร์คซิตี้กรุ๊ป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการเลือกตั้งคราวนี้ก็อยากได้รัฐบาลพรรคเดียว ถ้าผสมก็ไม่อยากให้เกิน 2 พรรค เพราะว่าการที่มีรัฐบาลพรรคเดียว การแก้ไขปัญหาต่างๆจะรวดเร็วขึ้น 

ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ

ถึงแม้จะมีพรรคเดียวกันก็ยังมีปัญหาที่ต้องถกเถียงกันในขั้วเดียวกันเลย แต่ถ้ามีหลายพรรคปัญหายุ่งยากจะเกิดขึ้น ทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจประชาชนหรือปากท้องอื่นๆจะเป็นไปจนละทิศคนละทาง ไม่เรียบร้อย ถ้าได้พรรคเดียวดีที่สุด หรืออย่างน้อยสัก 2 พรรคก็พอไปไหว 

นายกคนใหม่ควรมีคุณสมบัติที่กล้าหาญ ชาญชัย สามารถตัดสินใจได้เด็ดเดี่ยว เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ตกต่ำไปมาก แล้วบ้านเมืองย่ำแย่มา 8-9 ปีแล้ว การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของเราจะช้าไม่ได้แล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้แก้เฉพาะภายในประเทศ

การแก้ปัญหาตอนนี้ต้องทั่วโลก มันต้องรวมกันมองปัญหาในประเทศและต่างประเทศเป็นหลัก ปัญหาเศรษฐกิจโลกยิ่งย่ำแย่อยู่ แล้วภายในก็แย่หนักอยู่แล้วด้วย

ทำให้การแก้ปัญหาความยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น เราจึงต้องได้รัฐบาลที่ใจถึง แล้วต้องมีปัญญาเข้มแข็ง และต้องสามารถแก้ปัญหาระหว่างในประเทศและต่างประเทศได้ เพราะว่าตอนนี้โลกกำลังร้อนฉ่าอยู่

ผมดูแล้วคุณสมบัติคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ละพรรคมันยังไม่มีใครที่น่าจะมีเป็นนายกฯที่แก้ปัญหาได้ เพราะบางคนที่มีความสามารถก็ไม่ไปกับการเมือง บางคนก็เก่า บางคนใหม่ก็ยังเด็กเกินไป คนเก่าจะเอาเรื่องเก่าๆ คนใหม่ก็จะเอาเรื่องใหม่ๆ คนที่เข้าไปการเมืองก็ยังไม่กล้าตัดสินใจมากนัก 

เนื่องจากการเมืองเป็นเรื่องของของหอม แต่เมื่อเข้าไปแล้วมันจะเหม็น งั้นกว่าคนหอมจะเข้าไป เจอเหม็นเข้าก็จะแก้ปัญหายาก ผะอืดผะอม ไม่รู้จะทำอย่างไร ดังนั้นคุณสมบัติคนที่จะเป็นนายกฯจะต้องกล้าหาญ  ฉับเฉงว่องไว และต้องมีคุณสมบัติ โดยเฉพาะเรื่องรัฐบาลไทยแก้ยากมาก

เพราะเกี่ยวกับเรื่องของข้าราชประจำ เขาเคยทำอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร เขาก็จะปฏิบัติตามที่เขาเคยปฏิบัติ การแก้ไขของการเมือง ก็ไม่กล้าเข้าไปล้วงลูกอะไรมากนัก ปัญหาจึงเป็นปัญหาโลกแตก ที่ว่าไก่ออกก่อนไข่ หรือไข่ออกก่อนไก่ การแก้ปัญหาคนต้องมีฝีมือจริงๆ ต้องเก๋าๆการเมืองจริงๆ ต้องรู้เล่ห์เหลี่ยมของข้าราชการประจำจริงๆ จึงจะสามารถผ่านพ้นไปได้ 

ทั้งเมื่อผ่านพ้นไปได้ ยังไปติดแหง่กอยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจโลก เรื่องนโยบายต่างๆของโลกที่ปะทะร้อนอยู่ทั่วโลก เราจะเจอแค่สงครามในยูเครน รัสเซีย หึ่มๆระหว่างจีน ไต้หวัน อเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น แค่นี้ก็วุ่นวายพอสมควรแล้ว เพราะว่ามันเป็นเรื่องของเศรษฐกิจร่วมกันอยู่ 

ฉะนั้นผมว่ายากมากที่รัฐบาลเข้าไป 100 วันแรกจะทำอะไรได้ เพราะผมว่า 100 วันแรกยังไม่สามารถที่จะรวมหรือตั้งคณะรัฐมนตรีได้เลย ภายใน 3 เดือนเลือกตั้งเสร็จ ยังตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จแน่นอน

การตั้งของสภาผู้แทนราษฏร์ฯกว่าจะตั้งได้ กว่าจะตั้งนายกฯได้ กว่าจะทูลเกล้าได้ กว่าจะตั้งรัฐมนตรีได้มีโอกาส 6 เดือนกว่าจะเรียบร้อย หรือดีไม่ดีก็อาจจะยังไม่มีโอกาสเลย

ดังนั้นหลังจากได้รัฐบาลใหม่ หรือระหว่างที่ยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ ผมว่าเป็นเรื่องความท้าทายของโลกใหม่ มันยังมีปัญหาอีกเยอะที่เราจะรับมือไม่ไหว การแก้ปัญหาจะยากขึ้นไปอีกหลังได้รัฐบาลใหม่แล้ว

แต่ผมเชื่อว่าเลือกตั้งคราวนี้ประเทศเรายังเหมือนเดิม และจะได้รัฐบาลใหม่เมื่อไหร่ ผมยังไม่มั่นใจว่าเราจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ไหม ประเทศไทยถ้าถามผมโดยดูตามกติกาแล้วคิดว่าเศรษฐกิจและความมั่นคง การบริหารต่างๆ รัฐบาลไหนก็เอาไม่อยู่ 

เพราะปัจจัยภายนอกและในขย่มขนาดนี้ ปัญหาพวกนี้ต้องใช้เวลาอาจต้องเลือกตั้งครั้งที่ 2 หรือครั้งใหม่ต่อไปจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ อันนี้ก็ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลหน้าที่เรากำลังเลือกตั้งใหม่ แล้วเลือกตั้งใหม่จะได้ใครมาเป็นรัฐบาล แต่ถ้าดูการโพลตามนี้ผมว่ารัฐบาลยังเอาไม่อยู่ มี 2 ขั้วหลักที่คิดว่าจะได้ตั้งรัฐบาล แต่ 2 ขั้วนี้ก็ไม่สามารถรวมกันได้ หรืออาจจะรวมกันได้ ก็ไม่สามารถเดินนโยบายได้ตามความเป็นจริง เพราะทั้ง 2 พรรค ที่จะมีโอกาสตั้งรัฐบาล 

แต่ละพรรคก็มีจุดยืนของตัวเองค่อนข้างจะมั่นคง ถ้าเอาขั้วพรรคเล็กๆมารวมกันก็จะยิ่งยุ่งไปใหญ่ คราวนี้เลือกตั้งคงจะยังไม่สามารถมั่นคงได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดูแล้วคิดว่าประเทศไทยยังต้องรอไปอีกระยะหนึ่ง มันยากที่บอกว่าภายในเลือกตั้งใหม่จะดีขึ้นไหม ตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จไหม ปัญหาหนักมาก ผมทายว่าปัญหา 2-3 ปีนี้ยังจะไม่มีรัฐบาลไหนแก้ปัญหาได้ อาจต้องเข้าไปวงล้อเดิม ยากที่จะสะสางปัญหาได้โดยเร็ว

สรท.เร่งไทยค้าโลกฝ่าโลกผันผวน

ด้านดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ชี้ว่า กระแสการเมืองตอนนี้มองว่าการจะได้คะแนนเบ็ดเสร็จเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะแต่ละพรรคต่างโดดเด่น มีโอกาสได้ส.ส.แต่ละเขตพื้นที่ นักการเมืองรุ่นใหม่มีความสามารถสูงก็เสนอตัวเข้าบริหารประเทศหลายพรรค มีฐานเสียงคนรุ่นใหม่ไม่น้อย โอกาสได้รัฐบาลผสมมีความเป็นไปได้สูง แต่รัฐบาลต้องทำงานเพื่อประโยชน์ชาติมากกว่าส่วนตนและบูรณาการระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่จะครบรอบ 100 ปีประชาธิปไตยในปี 2575

ทั้งนี้ ผู้นำที่ดีควรมี 3 เก่ง ในแต่ละด้าน คือ 1. เก่งคิด เป็นนักคิดกลยุทธ์ และพัฒนาตลอดเวลา 2. เก่งทำ เมื่อคิดแล้วต้องสามารถขับเคลื่อนในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จ และ 3. เก่งคน จะต้องทำงานร่วมกันกับทุกฝ่ายแบบไร้รอยต่อ ขจัดความขัดแย้งต่างๆ

ส่วนปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เห็นพ้องว่า ต้องเร่งบริหารจัดการเรื่องค่าไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนครัวเรือนและภาคผลิต พร้อมกับสนับสนุนพลังงานทางเลือก (Renewable Energy) ให้เป็นรูปธรรม เช่น ขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้งดำเนินการ อุดหนุนค่าติดตั้งและรับซื้อพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาด ควบคู่กับการสร้างรายได้ โดยกระตุ้นการส่งออก และส่งเสริมการลงทุนในประเทศผ่านโครงการต่างๆ การเร่งระบายสินค้าเกษตร และตั้งงบประมาณสนับสนุน ยกระดับพัฒนาคุณภาพให้สามารถส่งออกสินค้าทางการเกษตรคุณภาพอย่างสมบูรณ์

กระตุ้นอสังหาฯเดินหน้าบิ๊กโปรเจ็กต์

เช่นกัน นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานคณะกรรมการบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI เห็นว่า รัฐบาลใหม่นอกจากต้องชื่อสัตย์แล้ว ต้องผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน สร้างงานสร้างอาชีพ แนวทางหนึ่งคือสร้างที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ให้เติบโต ควบคู่ไปกับภาคท่องเที่ยว ดึงคนต่างชาติเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง หลังโควิดคลี่คลาย

“ที่สำคัญไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นอีก เพราะจะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ฉุดกำลังซื้อให้ขาดหายไปได้อีก”

สอดคล้องนายมงคล ตั้งใจพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท สีเดลต้า จำกัด (มหาชน) หรือ DPAINT สะท้อนว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองฝ่ายไหนจะเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล ต้องทำให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยรัฐบาลให้ความสำคัญภาคอสังหาฯและเมกะโปรเจ็กต์ เครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และเมื่อ มีเม็ดเงินหมุดเงียน ครัวเรือนเกิดการจับจ่าย จากการจ้างงาน รวมถึงอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวเนื่องจะได้อานิสงส์

รัฐบาลหลังโควิดลุยแก้ปากท้องได้ทันที

ส่วนนางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า รัฐบาลหลังเลือกตั้งไม่ว่าจะสูตรไหนก็รับได้ หากเป็นไปตามครรลอง โดยไม่เพียงเพ่งเล็งที่คนใดคนหนึ่ง แต่ต้องมีทีมที่เข้ามาเพื่อมุ่งรับใช้ชาติเป็นหลัก และแก้ปัญหา มุ่งเน้นเรื่องของเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนประเทศทั้งองคาพยพ

ที่ผ่านมาไทยโดนเบรกมานานจากการระบาดเชื้อโควิด-19 แต่ตอนนี้เรากลับไปอยู่ในจุดที่ได้เปรียบทางการแข่งขัน (competitive advantage) อยู่ที่การสร้างจุดขายให้ชัดเจน สามารถแข่งขันในเวทีโลก ทำประเทศให้ดึงดูดคนมาลงทุน ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว ดึงบุลคากรที่มีคุณภาพเข้ามาอยู่ ทำให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“ความโชคดีของประเทศไทยคือ กำลังจะมีรัฐบาลใหม่ ที่มาหลังจากที่ไม่มีโควิดแล้ว ทำให้เชื่อว่า จะสามารถพลิกฟื้นประเทศ พลิกฟื้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องประชาชนได้ทันที” นางสาววรลักษณ์กล่าวยํ้า
 

แวดวงไอทีหวังโอกาส"รีสตาร์ท"ไทย
ผู้ประกอบการแวดวงเทคโนโลยีหวัง รัฐบาลใหม่เป็นจุดเปลี่ยน นายศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย)  กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริงจะเป็นเสมือนจุด “Refresh & Restart ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่” ที่องค์กรธุรกิจในทุกระดับต่างเตรียมพร้อมกับนโยบายสนับสนุนในด้านต่าง ๆ พร้อมความคาดหวังว่าจะช่วย แก้ปัญหาให้ตรงจุดด้วยคนที่มีความสามารถ เพื่อกระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ จากทั้งในและนอกประเทศ เพื่อฟื้นฟูศักยภาพในการแข่งขัน และเพื่อทำให้ประเทศไทยเป็น Regional Hub ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีต้นทุนเดิมรองรับอยู่แล้วเชิงภูมิศาสตร์ด้วยภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทย 
 

ทั้งนี้ ขอเสนอแนวคิดด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และบริบทใหม่ประเทศไทยหลังเลือกตั้ง พร้อมเสนอแนะแนวทางการพัฒนาประเทศใน 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่   1.ผู้คน Citizen Comes First  รัฐบาลต้องสนับสนุนภาคประชาชน ด้วยการสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนอย่างจริงจัง ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับศักยภาพการผลิต และทรัพยากรมนุษย์  2.เศรษฐกิจและสังคม เปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาส ดันไทยเป็นฮับภูมิภาคสำคัญของโลก ด้าน อาทิ พลังงานสะอาด ฮับการเชื่อมโยงโครงข่ายดิจิทัล เช่น เคเบิ้ลสื่อสารใต้น้ำ  เป็นต้น และ3.สะสางอุปสรรคการขับเคลื่อนให้สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เช่น การแปรรูปหน่วยงานที่เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งกาคการบิน ขนส่ง ท่องเที่ยว พลังงาน ปลดปล่อยศักยภาพประเทศ


จี้รัฐบาลใหม่ช่วยเอสเอ็มอีได้สินเชื่อ
 ขณะที่นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ ได้แก่ การแก้ไขหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งหนี้ภาคครัวเรือน และหนี้ธุรกิจ รวมทั้งการให้สภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่ต้องสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น แนวทางหนึ่งคือ พิจารณาจัดสรรงบประมาณการคํ้าประกันผ่านบสย. มากขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ

“ตัวเลขการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบของ บสย. มีเอสเอ็มอีเพียง 23-24 % หรือคิดเป็น 8 แสนรายเท่านั้น ที่เข้าถึงสภาพคล่อง จากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งในและนอกระบบ ทั้งหมดประมาณ 6 ล้านราย ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการจิ๋ว หรือไมโครเอสเอ็มอี อีกมาก ที่ยังต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องเป็นวงเงินน้อยเพียงหลักแสนบาท”

ทั้งนี้ ปัจจุบันบสย.ก็มีผลิตภัณฑ์คํ้าประกันสินเชื่อสำหรับสตาร์ทอัพ เพื่อรองรับสตาร์ทอัพกลุ่มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงประเทศเปิด เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว วงเงินไม่เกิน 10,000-100,000 บาท อีกทั้ง ยังผ่อนปรนเงื่อนไขไม่ตรวจเครดิตบูโรด้วย อย่างไรก็ดี ก็ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินด้วยว่า มองประวัติที่ผ่านมาของผู้ประกอบการเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาสินเชื่อด้วยหรือไม่ หากรัฐบาลใหม่เข้าไปดูแลในส่วนนี้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสภาพคล่องได้

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,884 วันที 4-6 พฤษภาคม พ.ศ.2566