นักเศรษฐศาสตร์ แนะคลัง-ธปท. ทำมาตรการผ่อนคลายการเงิน-คลัง พร้อมกัน

05 พ.ค. 2567 | 04:42 น.

นักเศรษฐศาสตร์ เสนอแนะกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องทำงานเป็นเอกภาพ หวังดันมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังไปพร้อมกัน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพ

วันนี้ (5 พฤษภาคม 2567) รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยต้องการการทำงานที่เป็นเอกภาพของกระทรวงการคลัง และธปท. เพื่อให้เกิดส่วนผสมของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง (Fiscal and Monetary Policy Mixed) อันสมดุล

ทั้งนี้เพื่อรับมือความท้าทายความผันผวนของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ และผลกระทบสงครามในตะวันออกกลาง ยุโรปและเมียนมา เพื่อบรรเทาและแก้ไขความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของกลุ่มประชาชนและเอสเอ็มอีที่ยังไม่พ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิด 

"การมีส่วนผสมของนโยบายทางการเงินและการคลังอย่างเหมาะสม จะช่วยทำให้ประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจดีขึ้น โดยจำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังไปพร้อมกัน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพและมีการใช้อัตรากำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มขึ้น นำไปสู่การลงทุนใหม่ ๆ" รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ

ทั้งนี้หาก ธปท. ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มขึ้น ภาระต่อมาตรการทางการคลังจะลดลง และนำมาสู่การก่อหนี้สาธารณะลดลงได้ หากธปท. ไม่ลดดอกเบี้ย เนื่องจากต้องดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว หรือ กังวลว่าจะเกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ ภาระในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ จะตกเป็นภาระต่อกระทรวงการคลังและมาตรการทางการคลังเพิ่มขึ้น

โดยมาตรการการคลัง นั้นต้องผ่านขั้นตอนมากมายในระบบราชการและกระบวนการทางการเมือง ก่อให้เกิดความล่าช้าของเม็ดเงินงบประมาณปี 2567 ในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ    
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การกำกับดูแล ระบบสถาบันการเงิน ระบบธนาคาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยทำให้ปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจดีขึ้น การก่อหนี้เกินตัว ลงทุนเกินตัว บริโภคเกินตัวจะลดน้อยลง ไม่มีปัญหาหนี้เสีย NPLs ในอนาคต 

ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลเดือนมีนาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย ลดลง 0.47% ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 137 เขตเศรษฐกิจ ที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข

ตอกย้ำถึง เศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่ำ อัตราการใช้กำลังการผลิตยังต่ำทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกิน ซึ่งต้องแก้ด้วยการกระตุ้นอุปสงค์ภายในและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลก แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกในรอบ 7 เดือนในเดือนเมษายนแต่เป็นบวกเพียงเล็กน้อย 0.19% เท่านั้นเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก

ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นจากสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง สินค้าเกษตรและอาหารหลายรายการราคาปรับตัวสูงขึ้น ผักสด และผลไม้สด ออกสู่ตลาดลดลงจากภัยแล้ง อุปสงค์ไม่ได้ร้อนแรง ไม่ได้มีสภาวะที่น่าวิตกกังวัลต่อปัญหาทางด้านเสถียรภาพและเงินเฟ้อแต่อย่างใด

โดยแรงกดดันเงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์อาจเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงปลายปี จากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะอยู่ที่ไม่เกิน 1% 

นอกจากนี้ยังเสนอแนะด้วยว่า รัฐบาล และธปท. ควรร่วมมือกันในการพัฒนาระบบการเงินแบบดิจิทัลขึ้นมา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล กระบวนการในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจไทย จะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเมื่อประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลสนับสนุน