ผ่า “กองทุนประชารัฐ” 3 แสนล้าน กล่องดวงใจดันนโยบายพลังประชารัฐ

27 เม.ย. 2566 | 03:57 น.

ผ่าภารกิจ “กองทุนประชารัฐ” 3 แสนล้าน กล่องดวงใจพรรคพลังประชารัฐ เครื่องมือหลักของการขับเคลื่อนนโยบายหาเสียงเลือกตั้งทั้งหมดของพรรค เช็ครายละเอียดของกองทุนมีอะไรน่าสนใจ แล้วคนไทยได้อะไรจากกองทุนนี้บ้าง

พรรคพลังประชารัฐ ประกาศนโยบายสู้ศึกเลือกตั้ง 2566 ผ่านมาตรการ 3 เร่งด่วน 7 เร่งรัด พลิกโฉมประเทศไทย เนื้อหาภายในแน่นด้วยนโยบายสารพัด เพื่อมัดใจฐานเสียง แต่ท้ายที่สุดแล้วการขับเคลื่อนนโยบายทั้งหมดจะทำไปไม่ได้เลย หากไม่มี “กองทุนประชารัฐ” ขนาด 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักของผลักดันนโยบายทั้งหมดไปใช้ได้จริง

ฐานเศรษฐกิจ พร้อมทั้งผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาล มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “อุตตม สาวนายน” ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขยายความ “กองทุนประชารัฐ” จะมีกลไก แนวทาง และผลลัพธ์ จะอย่างไรเกิดขึ้นกับประเทศไทย

หากนโยบายนี้ถูกนำไปใช้เป็นนโยบายจริง ภายใต้รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกรัฐมนตรี 

 

“อุตตม สาวนายน” ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ

เหตุผลของการใช้กองทุนประชารัฐ

ดร.อุตตม เล่าว่า กองทุนประชารัฐ จะเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนชุดนโยบายทั้งหมดของพรรคให้เดินไปข้างหน้า เน้นการแก้ไขปัญหาปากท้อง ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งทุนใหม่เข้าไปช่วยเติมให้กับประชาชน พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย จนค่อย ๆ เติบโตเป็นธุรกิจที่มั่นคง เช่นเดียวกับการส่งเสริมกลุ่มสตาร์ทอัพ มีทุนในการสร้างเนื้อสร้างตัวทำมาหากินประกอบกิจการ

“กองทุนประชารัฐ” จะประเดิมนโยบายแรกด้วยการเติมทุนให้พ่อค้าแม่ค้า ผ่านการจัดสินเชื่อพิเศษสำหรับคนตัวเล็ก วงเงินไม่เกินรายละ 5 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปี ผ่อน 7 ปี หรือวันละ 24 บาท เงินก้อนนี้เป็นเงินช่วยการประกอบอาชีพ อย่างแม่ค้าขายขนมจีน สามารถนำเงินทุนก้อนนี้ไปซื้อเครื่องทำขนมจีน เพื่อสร้างโอกาสในการหารายได้ในระยะยาว

ขณะเดียวกันยังพร้อมผลักดันให้ปัญหาหนี้สินของประชาชน เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อทำให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้แบบลูกหนี้จ่ายได้จริงด้วย

“การแก้ปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำในตอนนี้ อย่างบางพรรคบอกมีนโยบายพักหนี้ นโยบายนี้มันไม่ครบ และทั่วถึงทุกราย โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้า พอหมดเวลาหนี้ก็กลับมาใหม่ ดังนั้นการจะให้เขากลับเข้ามาสู่วงจรเดิม ต้องสร้างรายได้ให้กับเขาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเติมทุนใหม่ให้ไป ซึ่งกลไกกองทุนประชารัฐจะเข้าไปเติมช่องว่างตรงนี้” 

 

นโยบายพรรคพลังประชารัฐ "กองทุนประชารัฐ"

เติมทุนสตาร์ทอัพ-พัฒนาย่านทั่วประเทศ

อีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถใช้เงินจากกองทุนประชารัฐไปเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองได้ คือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มสตาร์ทอัพ โดยกลไกของกองทุนพร้อมจัดสรรทุนตั้งต้นให้เอสเอ็มอี และ สตาร์ทอัพ สูงสุด รายละ 5 ล้านบาท เพื่อพัฒนา ผู้ประกอบการรายใหม่ เกิดเป็นรากฐานเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขที่ผ่อนคลาย เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น 

กลไกอีกอย่างของกองทุนคือ การเข้าไปช่วยสร้างเศรษฐกิจย่านใหม่ทั่วประเทศ โดยจัดงบประมาณ สนับสนุนให้เกิดทำเลค้าขายใหม่ ๆ เกิดการกระจายรายได้ในวงกว้างย่านละ 50 ล้านบาท เช่น ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีย่านเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่ง ที่นำมาต่อยอดได้ ทั้งด้านวัฒนธรรม ครีเอทีฟ การเกษตร หรือการผลิตอาหาร 

ส่วนในต่างจังหวัด นอกจากคัดสรรย่านที่น่าสงเสริมแล้ว ยังสามารถนำกองทุนเข้าไปร่วมลงทุนในวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อช่วยให้วิสาหกิจชุมชนมีเงินทุนต่อยอดการทำธุรกิจ หรือเพิ่มเติมทักษะให้กับชาวบ้านในชุมชน ซึ่งกลไกของกองทุนประชารัฐจะเป็นข้อต่อสำคัญของกองทุนหมู่บ้านที่สามารถทำงานควบคู่กันไปได้ และยังจัดสร้างเครือข่ายศูนย์พัฒนาประชารัฐทั่วประเทศ สนับสนุนช่วยการสร้างทักษะการทำมาหากินด้วย

แหล่งเงินของกองทุนประชารัฐ

คิดนโยบายได้แต่ต้องหาเงินเป็นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ “ดร.อุตตม” ระบุว่า กองทุนประชารัฐ มีรูปแบบของการหาเงินมาเติมในกองทุนโดยมาจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งอาจจะเกลี่ยมาจากงบประมาณในส่วนที่ไม่ได้มีความสำคัญหรือซ้ำซ้อนมาได้บางส่วน อีกส่วนหนึ่งมาจากการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อนำเงินมาใส่ไว้ในกองทุน

“เงินกองทุนประชารัฐ 3 แสนล้านบาท จะไม่ได้ใส่เข้ามาในปีเดียว หรือทีเดียวเลย 3 แสนล้านบาท แต่จะใช้ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือมากกว่านั้นเล็กน้อยในปีแรก และใช้ตามความจำเป็น มีคณะกรรมการคอยตรวจสอบโครงการที่เสนอเข้ามาเพื่อให้สามารถใช้เงินได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนจริง ๆ”

 

“อุตตม สาวนายน” ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ

 

วางรากฐานเศรษฐกิจโต 5%

ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ ยอมรับว่า การทำนโยบายด้านเศรษฐกิจต้องทำให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่โตแบบกระท่อนกระแท่น 3 ปีดี อีก 3 ปีแย่ แต่ต้องหาทางผลักดันให้เศรษฐกิจไทยโตตามศักยภาพให้ได้ 5% ผ่านการวางรากฐานใหม่ ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความยากจนได้ด้วย

“เรื่องสำคัญคือการแก้ปัญหาปากทอง เพราะเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ต้องพลิกฟื้นขึ้นมาให้ได้ ผ่านมาตรการ 3 เร่งด่วน 7 เร่งรัดเพื่อพลิกโฉมประเทศไทย และดึงการลงทุนเพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจ เพราะเมื่อดูข้อเท็จจริงแล้วเงินในโลกนี้ยังมีหมุนอยู่เยอะมาก เงินเหล่านี้ยังหาที่ไปที่ลงอยู่ ประเทศไทยต้องไม่พลาดโอกาสนี้” ดร.อุตตม ทิ้งท้าย