เลือกตั้ง 66 กกต.ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง 423 คน เช็ครายชื่อผ่านออนไลน์

31 มี.ค. 2566 | 02:10 น.

เลือกตั้ง 66 กกต.แต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 423 คนทั่วประเทศ ตรวจสอบการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เช็ครายชื่อทั้งหมดได้ทางเว็บไซต์ www.ect.go.th

ในการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 ที่กำลังจะมาถึงนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดให้มีการจับสลากรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง 2566 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 77 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2566 ถึงวันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 423 คน ซึ่งประกอบด้วย  

  • ภาคเหนือ 85 คน
  • ภาคใต้ 80 คน
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 119 คน
  • ภาคกลาง 139 คน 

โดยสามารถเปิดดูบัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th

สำหรับการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะแต่งตั้งจังหวัดละไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 8 คน โดยใช้เขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดเป็นเกณฑ์ในการกำหนดจำนวนผู้ตรวจการเลือกตั้ง คือ 

1. จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งไม่เกิน 5 เขต จะต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 5 คน 

2. จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 6-8 เขตเลือกตั้ง มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 6 คน 

3. จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 9-11 เขต จะมีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 7 คน

4. จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งตั้งแต่ 12 เขตขึ้นไป จะมีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 8 คน

ในแต่ละจังหวัดจะต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น จังหวัดละ 2 คน แต่งตั้งจากผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีภูมิลำเนาจากจังหวัดอื่นให้ครบตามที่กำหนด

อำนาจและหน้าที่ของ "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" 

1.ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง เช่น ผู้อำนวยการประจำเขต กรรมการประจำเขต  กรรมการประจำหน่วย หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น โดยสามารถแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานให้ กกต. ทราบโดยเร็ว

2.ตรวจสอบการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3.เข้าไปในที่เลือกตั้ง หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง เพื่อสังเกตการณ์หรือเมื่อมีเหตุอื่นใดที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม

4.ปฏิบัติงานอื่นตามระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติของ กกต. และตามที่ได้รับมอบหมาย

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องรายงานความผิดปกติตามข้อ (1) และ (2) ข้างต้น ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อให้ดำเนินการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ถือว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

หากเป็นการขัดขวางโดยใช้หรือขู่เข็ญว่า จะใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ