เปิด 25 พรรคถูกร้องยุบพรรค“เพื่อไทย” แชมป์ ตามด้วย พปชร.

16 มี.ค. 2566 | 04:59 น.

เปิด 25 พรรคถูกร้องยุบพรรค “เพื่อไทย”มากสุด พปชร.อันดับสอง พบนายทะเบียนสั่งยุติเรื่องแล้ว 61 เรื่อง เหตุไม่มีมูล เหลือแค่ 19 เรื่องกำลังพิจารณา ขณะที่ “ก้าวไกล-ภูมิใจไทย”โล่งสุด ไร้คำร้องยุบแล้ว

วันนี้(16 มี.ค.66 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีก่อนหน้านี้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับคำร้องขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคการเมืองต่างๆ เนื่องจากมีการกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 นั้น จากข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงต้นปี 2566 มีพรรคการเมืองถูกร้องทั้งสิ้น 25 พรรคการเมือง รวม 83 เรื่องร้องเรียน ในจำนวนนี้มี 61เรื่องที่นายทะเบียนพรรคการเมือง เห็นว่าไม่มีมูล จึงให้ยุติเรื่อง และอีก 19 เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา 

ทั้งนี้ใน 25 พรรคการเมืองที่ถูกยื่นเรื่องร้องยุบพรรคมากที่สุด ประกอบด้วย 

พรรคเพื่อไทย 33 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 27 เรื่อง อยู่ระหว่างพิจารณา 6 เรื่อง 

พรรคพลังประชารัฐถูกร้อง 15 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 11 เรื่อง อยู่ระหว่างพิจารณา 3 เรื่อง อีก 1 เรื่องมีการถอนคำร้อง 

พรรคประชาธิปัตย์ถูกร้อง 3 เรื่องยุติเรื่องแล้ว 2 เรื่อง

พรรคพลังธรรมใหม่ถูกร้อง 3 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 2 เรื่อง

ส่วนพรรคก้าวไกลถูกร้อง  5 เรื่อง  

พรรคภูมิใจไทยถูกร้อง 2 เรื่อง 

พรรคคลองไทยถูกร้อง 2 เรื่อง   

พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรครักษ์ประเทศไทย พรรคพลังชล พรรครักษ์สันติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคมาตุภูมิ และพรรค มหาชน ซึ่งถูกร้องพรรคละ 1 เรื่องนั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นยุติเรื่องแล้วทั้งหมด

ขณะที่ พรรคไทรักธรรม ซึ่งถูกร้อง 3 เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคจากเหตุที่ถูกร้องไปแล้ว 2 เรื่อง เหลืออยู่ในระหว่างการพิจารณา 1 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม พรรคเสรีรวมไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคประชาธรรมไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และพรรคพลเมืองไทย ถูกร้องพรรคละ 1 เรื่อง และเรื่องยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา 

สำหรับตัวอย่างคำร้องที่เคยอยู่ในความสนใจและที่ได้ยุติเรื่องแล้ว อาทิ การร้องให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้มีการหาเสียงไว้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 62 การมอบสิทธิ์ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เลือกบุคคลเป็นรัฐมนตรี หรือการเลือก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรค  การที่พรรคยอมให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคชี้นำ ครอบงำ

การร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย เนื่องจากการยอมให้ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคชี้นำครอบงำ การดำเนินกิจการพรรค ทั้งจากเหตุมีจดหมายน้อยมาช่วยหาเสียงเลือกตั้ง นายกอบจ. เชียงราย  คลิปลับพูดคุยชี้นำสมาชิกพรรคในงานเลี้ยงวันเกิดของ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ การเสนอแก้ ป. อาญามาตรา 112 กรณี พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อ้างถูกในทักษิณปลดออกจากการเป็นสมาชิกพรรค 

คลิปงานเลี้ยงพรรคเพื่อไทย ที่ชู คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เป็นหัวหน้าพรรคและแนวทางการทำให้พรรคชนะแบบแลนสไลด์ การปรากฏข้อความบนเว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทย ชวนประชาชนรวมพลไล่ประยุทธ์ 

หรือการร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลจากกรณีสมาชิกพรรคใช้ตำแหน่งส.ส.ประกันตัวผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชนปลดแอก การอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในส่วนงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์ การร่วมมือกับชมรมแพทย์ชนบทตรวจเชิงรุกหาเชื้อโควิด 19 การที่ยอมให้คณะก้าวหน้าที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธานชี้นำครอบงำ การดำเนินกิจการพรรค เป็นต้น 

การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นให้ยุติเรื่องเป็นการใช้อำนาจตามข้อ 7 วรรคสอง ของระเบียบกกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2564 ที่กำหนดว่าในกรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพร้อมความเห็นว่า ไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หากกกต.เห็นชอบตามความเห็นของนายทะเบียนฯและแจ้งให้ผู้ร้องทราบ ในกรณีข้อเท็จจริงปรากฏต่อนายทะเบียนให้สั่งยุติเรื่อง  ซึ่งคำร้องที่ยุติเรื่องแล้วทางสำนักงานฯได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบแล้ว

ส่วน 19 เรื่องยุบที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เช่น กรณีปรากฏหลักฐาน ไลน์การโอนเงินเข้าบัญชี 6 ส.ส.พรรคเล็ก การที่พรรคเพื่อไทย แต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ซึ่งเป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย การที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บินพบนายทักษิณที่ฮ่องกง การจัดประชุมใหญ่ของพรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งมีการปราศรัยพาดพิงสถาบัน เป็นต้น

การร้องพรรคภูมิใจไทยที่เลือกเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่พรรคพลังประชารัฐ มีคะแนนมาเป็นอันดับ 2 การที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ให้เงินค่าตอบแทนอสม.เพื่อจูงใจ ให้เลือกนางแว่นฟ้า ทองศรีภรรยานายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นนายกอบจ.บึงกาฬ