จับตา 6 ขุนพลทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ถกนโยบายแก้ปัญหาปากท้อง พรุ่งนี้

20 ก.ค. 2566 | 07:44 น.

จับตา ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย พรหมินทร์ -เศรษฐา - กิตติรัตน์ - พันศักดิ์ -ศุภวุฒิ - ปานปรีย์ นัดประชุมจัดทำนโยบายรัฐบาลใหม่ แก้ปัญหาปากท้องประชาชน พรุ่งนี้(21 ก.ค.) หลังพรรคได้ก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทนก้าวไกล

เดินเครื่อง ผุด 5นโยบายเพิ่มรายได้ประเทศ ทั้ง "ต่างประเทศ-เกษตร-เข้าถึงแหล่งทุน-พลังงาน-ท่องเที่ยว” เน้นทำงานต่อเนื่องหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ให้ประเทศ

 

รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการ ด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ได้นัดประชุมทีมเศรษฐกิจ ในวันพรุ่งนี้(21 กรกฎาคม 2566) เวลา 10.00 น. เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำนโยบายรัฐบาล ภายหลังพรรคเพื่อไทยกลายมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 

 

ทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ที่จะเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดทนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการ , นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานกรรมการ, นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาฯ , นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาฯ, นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาฯ และคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ มีการประชุมหารือเดินหน้าการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางในการสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศในด้านต่างๆ

การประชุมครั้งนี้คาดว่าจะมีการนำนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ได้กำหนดไว้ 12 กลุ่ม 70 นโยบายขึ้นมาหารือ เพื่อจัดลำดับความสำคัญว่าหากพรรคได้เข้าเป็นไปรัฐบาลแล้วมีนโยบายเร่งด่วน นโยบายระยะสั้น นโยบายระยะปานกลางและระยะยาวอะไรบ้างที่ต้องดำเนินการ โดยนโยบายเร่งด่วนของพรรคจะเน้นไปในเรื่องของการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน 

สำหรับ 12 กลุ่มนโยบายของพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย 

  1. นโยบายด้านการศึกษา
  2. นโยบายด้านการเกษตร
  3. นโยบายด้านสวัสดิการ
  4. นโยบายด้านคมนาคม
  5. นโยบายด้านพลังงาน
  6. นโยบายด้านสาธารณสุข
  7. นโยบายด้านระบบการเมือง
  8. นโยบายด้านน้ำ ที่ดิน และสิ่งแวดล้อม
  9. นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล
  10. นโยบายด้านการท่องเที่ยว
  11. นโยบายด้านการพัฒนาเมือง
  12. นโยบายด้านต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ได้มีการประชุมหารือเดินหน้าการทำงาน เพื่อหาแนวทางในการสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศในด้านต่างๆ แบ่งออกเป็น5นโยบายหลักสำคัญ ในการเดินหน้าประเทศไทย ประกอบด้วย 

 

“ด้านการต่างประเทศ” ได้พิจารณาการสร้างความเชื่อมั่นและบทบาทของประเทศไทยบนเวทีโลก การอำนวยความสะดวกด้านการศุลกากรแบบไร้รอยต่อ การเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไม่ว่าจะเป็นไทย-EU ไทย-EFTA ไทย-GCC ไทย-UK และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และการรับมือนโยบายเน้นการบริโภคภายในของประเทศจีน และการหาตลาดใหม่ในประเทศที่มีประชากรมากแต่ปริมาณการค้ากับไทยยังน้อย เช่น ประเทศไนจีเรีย และความท้าทายภาคธุรกิจไทยและโอกาสใน BIMSTEC

 

“ด้านภาวะหนี้และการเข้าถึงแหล่งทุน”  มีการหารือ 3 ปัญหาสำคัญที่ทำให้ภาคเอกชนเข้าไม่ถึงแหล่งทุน คือ 1.การขาดหลักประกันที่ตรงกับความต้องการของสถาบันการเงิน 2.การมีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี และ 3.แนวทางประกอบธุรกิจไม่ตอบโจทย์ นอกจากนั้นยังมีความกังวลกับภาวะหนี้เสียของภาคเอกชนที่เป็นระเบิดเวลาที่จะเป็นปัญหาในระยะถัดไป

 

 “ด้านการเกษตร” เป็นการหารือแนวทางปฏิบัติต่อเนื่องจากแนวนโยบายของพรรค ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตลาดนำการผลิต การเพิ่มผลิตภาพของภาคการเกษตร การขยายพื้นที่ชลประทาน และการปรับพื้นที่เพาะปลูกให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินบนเงื่อนไขการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ใหม่ให้กับประชาชนจากสินทรัพย์ที่ถูกมองข้าม

 

“ด้านพลังงาน” โดยเฉพาะเรื่องราคาพลังงาน ที่ประชุมเห็นว่าเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนจะมีการขยายเวลายกเว้นการเก็บภาษีน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาท รวมถึงการปรับโครงสร้างพลังงานเพื่อแก้ไขปัญหาราคาพลังงานในระยะกลาง-ยาว โดยยึดหลักความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

 

“ด้านการท่องเที่ยว” ได้หารือเกี่ยวกับการเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงผ่านวีซ่าแบบเดินทาง เข้า-ออกหลายครั้ง (Multiple Entry Visa) การสร้างแรงจูงใจเพื่อเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวแบบพักพิงระยะยาว ผู้สูงอายุ และการดึงดูดนักท่องเที่ยวเอเชียใต้ รวมถึงการแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว