แบงก์ 1,000-500 สะพัดเลือกตั้ง 2566 ยอดพุ่งกว่า 5 หมื่นล้าน

07 พ.ค. 2566 | 23:40 น.

เปิดข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย พบ แบงก์ 1,000 -500 บาท สะพัดในช่วงเลือกตั้ง 2566 กว่า 2.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. 66 กว่า 5 หมื่นล้านบาท ด้านนักวิชาการแนะจับตาโค้งสุดท้าย 1 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งใหญ่

เลือกตั้ง 2566 : การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย หรือ ส.ส. เป็นการทั่วไปครั้งที่ 27 เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน แบ่งเป็นการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือนพบว่า ปริมาณเงินสดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นกว่า 52,423 ล้านบาท จาก 2,384,659 ล้านบาทในเดือนมกราคม เป็น  2,408,648 ล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ และ 2,437,082 ล้านบาทในเดือนมีนาคม

เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดพบว่าธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท ที่หมุนเวียนในระบบในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้น 42,523 ล้านบาท จาก 1,964,345 ในเดือนมกราคม เป็น  1,966,737 ล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ และ 2,006,868 ล้านบาทในเดือนมีนาคม

ขณะที่ธนบัตรชนิดราคา 500 บาท ที่หมุนเวียนในระบบในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้น 8,093 ล้านบาท จาก 169,568 ในเดือนมกราคม เป็น  168,278 ล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ และ 177,661 ล้านบาทในเดือนมีนาคม

ส่วนธนบัตรชนิดราคา 100 บาทที่หมุนเวียนในระบบในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงมีนาคม 2566ลดลง 249 ล้านบาท จาก 184,005 ในเดือนมกราคม เหลือ  182,581 ล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ และ 182,332 ล้านบาทในเดือนมีนาคม

ปริมาณธนบัตรหมุนเวียนช่วงเลือกตั้ง 2566

หากรวมปริมาณธนบัตรชนิด 1,000 บาท และชนิด 500 บาท ที่หมุนเวียนในระบบเดือนมีนาคม 2566 แล้วจะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,184,529 ล้านบาท

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ปริมาณเงินสดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นมานั้น ก็น่าคิดเหมือนกันว่า อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องไปถึงประเด็นทางการเมืองก็เป็นได้ โดยเฉพาะในช่วงของการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น

แต่ถ้าจะใช้ชัดเจนมากขึ้นคงต้องไปเปรียบเทียบกับช่วงของการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ว่าเคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ถ้าเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ว่าประมาณเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งแบงก์ 1,000 และ แบงก์ 500 นั้นเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งจริง หรือมีโอกาสในการจ่ายเงินซื้อเสียงหรือไม่ ก็ขอให้ดูตัวเลขเชิงลึกในช่วงโค้งสุดท้ายอีก 1 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งใหญ่วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ว่ามีปริมาณเงินสดหมุนเวียนแบบผิดปกติหรือไม่

“สิ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้ว่าเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ว่าเคยเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาก่อนไหม ถ้าเกิดขึ้นจริงก็มีโอกาสที่จะเป็นเงินที่ใช้ในการซื้อเสียงสูงมาก”ศ.ดร.อรรถกฤตกล่าว