เลือกตั้ง 2566 : 5พรรคโชว์กึ๋น บูมการค้า-ดึงทุนต่างประเทศ พลิกเศรษฐกิจ

13 เม.ย. 2566 | 01:55 น.

เลือกตั้ง 2566 เจาะนโยบาย 5 พรรคการเมือง เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-รวมไทยสร้างชาติ-ก้าวไกล-ไทยสร้างไทย ผลักดันการค้า การลงทุน ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ พลิกฟื้นเศรษฐกิจ

การเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้น นโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออก นับเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้ฟันเฟืองทางเศรษฐกิจทุกตัวกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ฐานเศรษฐกิจ จึงได้สัมภาษณ์ทีมเศรษฐกิจ 5 พรรคการเมืองมานำเสนอ

“เพื่อไทย”เร่งผลักดันอุตสาหกรรมสมัยใหม่

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้น หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล สิ่งแรกที่ต้องเร่งทำในด้านการค้าและการลงทุนคือ ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติด้วยการทำการเมืองของประเทศให้เป็นประชาธิปไตย เป็นประเทศที่สันติและน่าลงทุน เร่งเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) เพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ดิจิทัลให้ได้ พร้อมทั้งเร่งปรับระบบราชการให้รองรับการลงทุนเพิ่มมากขึ้นและรวดเร็วกว่าปัจจุบัน ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย

สำหรับนโยบายด้านการค้าและการลงทุนจะทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป ทั้งอุตสาหกรรม 4.0 หรือการส่งเสริมนวัตกรรมอาจจะช้าไปแล้ว เวลานี้อาจต้องเปลี่ยนรูปแบบใหม่ด้วยการดึงนักลงทุนในอุตสาหกรรมหลัก ๆ เข้ามาในประเทศเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มากที่สุด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ต้องทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคให้ได้ หรือการดึงอุตสาหกรรมชิป-เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

สร้างเขตธุรกิจใหม่ 4 ภาค ต่อยอด EEC

ดร.ปานปรีย์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้วยการประกาศสร้างเขตธุรกิจใหม่ 4 ภาคโดยมีพื้นที่นำร่อง คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ ที่มีมหาวิทยาลัย สนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในพื้นที่พร้อมเพื่อขับเคลื่อน Start-ups และ SMEs ขณะที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งทำมาในรัฐบาลนี้ พรรคเพื่อไทยจะไม่ล้มโครงการ เพราะมีโครงการลงทุนหลายอย่างที่เดินหน้าไปแล้ว แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์ โดยจุดยืนของพรรคหากเป็นรัฐบาลแล้ว จะไม่ขยายโครงการ EEC ออกไปอีก และพุ่งเป้าไปที่การทำเขตธุรกิจใหม่ในภาคอื่นๆ ให้แข็งแรงขึ้นมาแทน

ประชาธิปัตย์ ตั้งเป้า ลดต้นทุนธุรกิจ

นายเกียรติ สิทธีอมร คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า นโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการค้าการลงทุน สิ่งที่ต้องเร่งแก้ปัญหา คือการลดราคาพลังงานด้วยการปรับลดค่าการกลั่น ปรับแก้สูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า FT เพื่อให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าถูกลง ควบคู่กับการลดราคาก๊าซที่นำมาผลิตไฟฟ้า และลดต้นทุนการเงินด้วยการปรับลดส่วนต่างๆอัตราดอกเบี้ยของธนาคารลง

เกียรติ สิทธีอมร คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์

ขณะเดียวกันจะต้องลดต้นทุนขนส่ง ด้วยการเปลี่ยนระบบการขนส่งหลักมาใช้การขนส่งทางรางที่มีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางถนนน เพื่อต้นทุน Logistic ให้เหลือ 7% ของ GDP ใน 4 ปี ด้วยการจัดทำระบบ Feeder lines ลงไปยังจุดต่างๆ ด้วยการเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานระยะยาว หรือลงทุนในรูปแบบร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐบาล

ดันไทยเป็นศูนย์กลาง R&D เอเชีย ดึงทุนต่างชาติ

นายเกียรติ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้วยความเก่ง เร่งหาจุดแข็งอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยตั้งเป้าหมายเราต้องเป็น R&D Hub ของเอเชีย เพื่อดึงดูดการลงทุน รวมถึงจะต้องเร่งเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีต่างๆโดยเร็ว เพื่อให้ไทยมีประเทศคู่ค้ามากกว่าเวียดนาม อีกประเด็นที่สำคัญ คือการจัดตั้งเอาท์เล็ต หรือ ศูนย์กระจายสินค้า ในตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าไทยในต่างประเทศ

ส่วนการส่งเสริมภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีเป้าหมายยกระดับเทคโนโลยีให้ไทยต้องเป็นศูนย์กลางด้านวิจัยและพัฒนา R&D ของเอเชีย โดยตั้งเป้าหมายลงทุน R&D 3% ของ GDP ใน 4 ปี ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Big Data, AI, Automation และ Innovation โดยจะมีการจัดกลุ่ม Cluster อุตสาหกรรม จัดทำ Platform ในแต่ละ Supplychain Technology Transfer และ Gov Tech นอกจากนี้ยังมีนโยบายสร้างกำลังคนในระยะยาวด้วยนโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรีในสาขาที่ขาดแคลน

ตั้งกองทุน SMEs 3 แสนล้านอัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า

สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามนโยบายของพรรคที่จะมีการส่งเสริม ประกอบด้วย เกษตรแปรรูปอาหารสาเร็จรูป เช่น(Ready) อาหารแช่แข็ง (Frozen) อาหาร (Bio) ยา (Bio Pharma) และเวชสาอาง (Bio) บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยานยนต์ไฟฟ้า เรือ ไฟฟ้า โรงไฟฟ้า แสงอาทิตย์ชีวภาพ ชีวมวล และลม โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็น EV Global supply chain ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้เพื่อให้การผลักดันนโยบายต่างๆประสบความสำเร็จตามนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการจัดตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนา กองทุน SMEs 300,000 ล้านบาท เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาตรการจูงใจทางภาษี Packing credit และ Matching Fund ปรับบทบาทธนาคารรัฐ ธนาคารเฉพาะกิจ เช่น SMEs bank bankและ EXIM bank

รวมไทยสร้างชาติ ชู พลังงานสะอาด ดึงทุนนอก

ขณะที่หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า พรรคมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการส่งเสริมการลงทุนของประเทศ โดยมุ่งใช้นโนบายเชิงรุกในการดึงเอาความสามารถทางการแข่งขันในด้านต่างๆที่เรามีอยู่เช่นพลังงานสะอาดที่มีความต้องการอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรม และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของประเทศมาทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบและมีความสามารถทางการแข่งขันในการเป็นฐานการผลิตที่สะอาดของโลก 

หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ

พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้มีการกำหนดนโยบาย และ roadmap ให้ประเทศเป็น Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ.2050 ผ่านมาตรการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดที่จะไม่มีการใช้ถ่านหินภายในปี ค.ศ.2030 และในปี ค.ศ.2040 ประเทศไทยจะใช้พลังงานสะอาดถึง 50% ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้อุตสาหกรรมต่างๆและบริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาลงทุน ทำให้ไทยจะเป็นฐานการผลิตของโลกที่มีอุตสาหกรรมใหม่ๆ รวมถึงอุตสาหกรรม S-curve ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการลงทุนทั่วโลก

ผลักดันระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาคดึงลงทุน 4 ล้านล้าน

นอกเหนือจากนี้พรรครวมไทยสร้างชาติยังมีนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ เพื่อกระจายรายได้และความเจริญไปทั่วประเทศไทย ช่วยดึงดูดการลงทุนและสร้างอุปสงค์ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และจะนำทำให้ประเทศไทยให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา ทาง BOI ได้อนุมัติโครงการที่เกี่ยวข้องกับ BCG แล้วถึง 6แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันยังมีนโยบายส่งเสริม SMEs โดยสนับสนุนให้ภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยมีสัดส่วนของ SMEs ถึงร้อยละ 50 และยังมีกองทุน e-factoring และกองทุนต่างๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องด้านแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs โดยนำเอา LTF หักภาษีเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย นอกจากนี้ในด้านการค้าระหว่างประเทศ นอกเหนือจาก FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้เกษตรกรไทยได้ประโยชน์สูงสุดแล้ว พรรครวมไทยสร้างชาติยังสนับสนุนและพลักดันให้สินค้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดของไทยได้รับสิทธิพิเศษ Green Lane กับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและ OECDอีกด้วย

"ก้าวไกล" พร้อมรื้อบีโอไอใหม่รับลงทุน

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กล่าวว่า นโยบายด้านการลงทุนของพรรคก้าวไกล มีความชัดเจนเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ด้วยการเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่และกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น

เลือกตั้ง 2566 : 5พรรคโชว์กึ๋น บูมการค้า-ดึงทุนต่างประเทศ พลิกเศรษฐกิจ

พรรคก้าวไกลมีนโยบายสำคัญคือการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมชิปประเภทอิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้า (Power Electronics) ตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์ไฟฟ้าสมัยใหม่ เช่น รถยนต์ EV อุปกรณ์ชาร์จเร็ว สถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว ไปจนถึงอุปกรณ์ควบคุมกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยออกแบบแพ็คเกจส่งเสริมการลงทุนที่สามารถดึงดูดนักลงทุนเป้าหมายได้จริง ครอบคลุม ทั้งการสร้างบุคลากร เงินอุดหนุน งานวิจัย สาธารณูปโภค

นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมการวิจัยด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน เช่น ไฮโดรเจน พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์เข้มข้น และให้แรงจูงใจกับบริษัทเอกชนลงทุนเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตที่ประหยัดพลังงาน หรือลดการปล่อยคาร์บอน ผ่านการหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5-2 เท่า และการส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตชุดอุปกรณ์ในสถานีชาร์จไฟฟ้า และอุปกรณ์ติดตั้ง Smart City ด้านการประหยัดพลังงานด้วย

ไทยสร้างไทย ดันแผนลงทุนหนุน SMEs

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทย มีนโยบายด้านการลงทุน ด้วยการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ ให้เป็นรายได้ของประเทศ โดยการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปรับโครงสร้างและตัวชี้วัดของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้มาสนับสนุนเอสเอ็มอี เพื่อผลักดันตัวเลขจีดีพีของกลุ้ม SMEs เพิ่มขึ้นจาก 35% เป็น 50% ภายใน 4 ปี

สุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย

พร้อมทั้งปรับปรุงพื้นที่ EEC ให้เป็นพื้นที่โอกาสในการลงทุนของ SMEs ทั้งการดึงคลัสเตอร์ SMEs เครื่องสำอางกว่า 100 บริษัทเข้ามาในพื้นที่ EEC ควบคู่กับจัดทำสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทยได้มีแต้มต่อ เช่นให้ราคาค่าเช่าที่ดินที่ถูกกว่าต่างชาติ รวมทั้งรัฐบาลให้การสนับสนุนผ่านการตั้งศูนย์ทดลอง หรือการวิจัยและพัฒนาขึ้นมาดูแลกลุ่มเอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้น.