ประชาธิปัตย์ เปิด 5 แหล่งเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้าน ปั๊มจีดีพี 5%

10 เม.ย. 2566 | 05:32 น.

พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย พร้อมเปิด 5 แหล่งเงินสำคัญ 1 ล้านล้านบาท ขับเคลื่อนจีดีพีโตเฉลี่ย 5% ต่อปี ต้องการปิดหลุมรายได้ 3 ล้านล้านบาท

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย ด้วยเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากแหล่งเงินที่มีอยู่เดิม ไม่ก่อหนี้เพิ่ม ช่วยลดภาระหนี้ของประชาชน และสามารถทำได้จริงในทันที เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เฉลี่ย 5% ตามศักยภาพที่แท้จริง

“วิธีคิดของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้คิดในเชิงจุลภาค แต่จะคิดเชิงมหภาคว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมเติบโคให้ได้อย่างน้อย 5% เพราถ้าเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 5% คือโตได้ในระดับแค่ 2% นั้น เราจะไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุน และไม่มีการลงทุน เพราะไม่เห็นโอกาสของประเทศไทยในอนาคต ส่งผลต่อเงินในระบบเศรษฐกิจหายไปจนไม่มีเงินมาใช่ในการดูแลสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งสูงอายุ คนที่ยังคงทุกข์ยากต่อไป”

สำหรับการทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ต้องการปิดหลุมรายได้กว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเกิดจากความเสียหายช่วงโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา โดยได้เงินมาแล้ว 2 ล้านล้านบาท จากการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับวงเงิน 1.5 ล้านล้าน และการเกิด Automatic Stabilizer รายได้เก็บได้ต่ำกว่าประมาณการในปี 2563-2565 อีก 5 แสนล้านบาท จึงต้องหาเงินอีก 1 ล้านล้านมาปิดหลุมรายได้ที่เกิดขึ้น 

 

พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท

กระตุ้น 1 ล้านล้านจาก 5 แหล่งเงิน 

สำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเงิน 1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 5 แหล่งเงินสำคัญ ดังต่อไปนี้

  • ธนาคารหมู่บ้าน และ ชุมชน ๆ ละ 2 ล้านบาท วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท
  • ปลดล็อค กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ให้สมาชิกซื้อบ้านได้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท
  • ปลดล็อค กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซื้อบ้านได้ วงเงิน 2 แสนล้านบาท
  • กองทุนเพิ่มทุน SMEs และ Start ups วงเงิน 3 แสนล้านบาท
  • นโยบายที่ประกาศ 13 เรื่อง วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท

 

พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท

ดันสองขา กระตุ้นระยะสั้น-ยาว

การประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ด้วยเงิน 1 ล้านล้านบาท แยกออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือการกระตุ้นในระยะสั้น และการปรับโครงสร้างระยะยาว 

ส่วนแรก : ระยะสั้น วงเงิน 7.8 แสนล้านบาท

การดำเนินการส่วนนี้จะแยกออกเป็นส่วนย่อย ๆ แบ่งเป็น

1.กลุ่มรากหญ้า ผ่านการจัดทำ ธนาคารหมู่บ้าน / ชุมชน ๆ ละ 2 ล้านบาท วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน พ.ศ.2562 โดยมีธ.ก.ส. และออมสิน ช่วยกำกับดูแลเป็นพี่เลี้ยง

2.ชนชั้นกลาง ปลดล็อค กบข. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้สามารถนำเงินกองทุนม่เกิน 30% ไปซื้อบ้าน ผ่อนบ้าน หรือลดหนี้ที่อยู่อาศัยได้ วงเงินรวมกัน 3 แสนล้านบาท

3. SMEs และ Start ups เพิ่มทุนให้ 3 แสนล้านบาทให้ธุรกิจมีเงินใหม่เพื่อการลงทุน

ส่วนที่สอง : ระยะยาว วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท

เน้นการปรับโครงสร้างและปลดล็อคข้อจำกัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตของประเทศ ผ่านนโยบายต่าง ๆ ที่ประกาศไปรวมทั้งหมด 13 เรื่อง ตัวอย่างเช่น

1.ที่ดิน นโยบายโฉนด 1 ล้านแปลง, สิทธิทำกินในที่ดินรัฐ, 3 ล้านล้านบาท สำหรับการรวมแปลงที่ดินใหญ่, อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เดือนละ 1,000 บาท

2.ประมง ผ่อนคลายมาตรการ IUU 

3.แรงงาน เรียนฟรีปริญญาตรีในสาขาที่ต้องการ

4.เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต 1 ล้านจุด

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงนโยบายเกี่ยวกับการสร้างรายได้ เช่น ประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ตัว ชาวนารับ 30,000 บาทจากที่ดิน ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ประมงพื้นบ้านกลุ่มละ 100,000 บาท ต่อปี นมโรงเรียน 365 วัน ชมรมผู้สูงอายุ 30,000 บาท ต่อปี และ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาพยาบาลฟรี 

หวังดันระบบการเงินไทยแข็งแรง

ดร.พิสิฐ ระบุว่า ที่ผ่านมาหลายพรรคการเมืองประกาศว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตในระดับ 5% แต่ไม่ได้บอกว่ามีวิธีที่ชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรบ้างที่จะทำให้เศรษฐกิจโต เพียงแต่บอกว่าเอาเงินใส่เข้าไปให้เกิดการใช้จ่าย แตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ แสดงให้เห็นว่ามีกลไกที่เกิดความยั่งยืน และมีศักยภาพ ไม่สร้างปัญหาในอนาคต และพยายามกดให้หนี้สินอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้

“บางพรรคเสนอนโยบายแก้หนี้นอกระบบด้วยการพรรคหนี้ หรือใช้เครดิตบูโร ทั้งหมดนี้ทำให้ระบบการเงินอ่อนแอลง แต่พรรคประชาธิปัตย์จะทำให้ระบบการเงินแข็งแรงและมีเงินใหม่ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยแข็งแรงด้วย”