เช็คความพร้อม "เงินดิจิทัล" ธปท. หลังเพื่อไทย ประกาศแจกหมื่นบาท

07 เม.ย. 2566 | 07:17 น.

ตรวจสอบความพร้อม "เงินดิจิทัล" CBDC ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย หลังพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายในรัศมี 4 กม. ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน

เป็นที่ฮือฮา หลังนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และ 1 ในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ได้ประกาศกลางเวทีปราศรัยใหญ่ ภายใต้สโลแกน“คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ตอน One Team for all Thais : หนึ่งทีมเพื่อไทยทุกคน” ว่า พรรคเพื่อไทย มีนโยบายเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยต้องใช้จ่ายในรัศมี 4 กม. ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน

ฐานเศรษฐกิจได้รับการยืนยันโดย แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยว่า เงินที่จะโอนเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลนั้น คือเงินสกุล CBDC ของธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับความพร้อม และความเป็นไปได้จริง ของการใช้เงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี คือสิ่งยังคงถูกตั้งคำถามถึงความพร้อมในการใช้งาน ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ภายใต้ชื่อโครงการว่า "อินทนนท์"

โครงการอินทนนท์

"โครงการอินทนนท์" โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันการเงิน 8 แห่ง และบริษัท R3 (ผู้พัฒนา DLT ใน Corda Platform) ในการทดสอบความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ DLT หรือ บล็อกเชน (Blockchain) กับระบบการชำระเงินของประเทศ โดยเงินดิจิทัล Central Bank Digital Currency (CBDC)   

3 ระยะ ของการพัฒนา เงินดิจิทัล ของธปท. (โครงการอินทนนท์)

ระยะที่ 1 สร้างระบบการชำระเงินต้นแบบ 

เป็นขั้นตอนของการโอนเงินระหว่างธนาคาร ต่อธนาคารที่เข้าร่วมโครงการด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) โดย ธปท. จะแปลงเงินฝากของสถาบันการเงินที่นำมาฝากไว้ที่ ธปท.ให้อยู่ในรูปสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) และ ออกแบบกลไกการให้สภาพคล่องแก่สถาบันการเงินระหว่างวันแบบอัตโนมัติ (Automated Liquidity Provision) 

"โครงการอินทนนท์"

ระยะที่ 2 พัฒนาขีดความสามารถของระบบการชำระเงินต้นแบบ

เป็นระยะที่ต่อยอดมาจาก ระยะที่ 1 เพื่อให้ระบบต้นแบบรองรับธุรกรรมที่ใกล้เคียงกับโลกความเป็นจริงมากขึ้น ตั้งแต่การแปลงพันธบัตรให้อยู่ในรูป Token การส่งมอบพันธบัตรและชำระเงินค่าพันธบัตรในเวลาเดียวกัน (Delivery Versus Payment: DVP) การจ่ายดอกเบี้ย จนถึงการจ่ายคืนเงินต้นในวันที่พันธบัตรครบกำหนด รวมทั้งออกแบบระบบให้รองรับการซื้อขายพันธบัตรในตลาดรอง หรือนำพันธบัตรมาใช้เป็นหลักประกันสำหรับธุรกรรมซื้อคืน (Repurchase Agreement)

พร้อมวางกลไกที่ช่วยตรวจสอบข้อมูล เพื่อช่วยป้องกันธุรกรรมการชำระเงินที่ต้องสงสัย (Fraud Prevention) รวมถึงตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อลดกระบวนการตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทของ ธปท.

3 ระยะ ของการพัฒนา เงินดิจิทัล ของธปท. (โครงการอินทนนท์)

ระยะที่ 3 เชื่อมต่อกับระบบการชำระเงินในต่างประเทศผ่านการใช้ CBDC

เป็นขั้นตอนขยายขอบเขตไปสู่การชำระเงินข้ามประเทศระหว่างสถาบันการเงิน ผ่านการใช้ CBDC เพื่อลดกระบวนการในปัจจุบันที่ต้องทำผ่านตัวกลางหลายราย พัฒนาไปสู่การโอนและชำระเงินโดยตรง เพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมชำระเงินระหว่างประเทศให้มีความรวดเร็ว มีต้นทุนที่ถูกลง แต่ยังคงมีความปลอดภัยสูง

ความคืบหน้าล่าสุด

5 สิงหาคม 2565 ธปท. ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้า การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการใช้งาน ในภาคประชาชน (Retail CBDC) ว่า ได้มีการขยายขอบเขตการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC ไปสู่การใช้งานจริงในวงจำกัด (Pilot) ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินถึงประโยชน์และความเสี่ยง รวมทั้งกำหนดนโยบายและปรับปรุงการออกแบบ CBDC ในอนาคต

โดยการทดลองใช้งานจริงในวงจำกัด (Pilot) หรือที่เข้าใจเป็นการทั่วไปว่า แซนบ็อกนั้น มี 2ส่วนด้วยกัน คือ การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation track) และ การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track) เพื่อประเมินความเหมาะสมของเทคโนโลยีและการออกแบบ รวมถึงการนำไปต่อยอดบริการให้กับประชาชน 

การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation track)

โดยจะทดสอบการนำมาใช้ชำระค่าสินค้าบริการในพื้นที่เฉพาะ และในกลุ่มผู้ใช้งานประมาณ 10,000 ราย ที่กำหนดโดย ธปท. และภาคเอกชนที่ร่วมทดสอบ 3 ราย3  ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการทดสอบนี้จะนำเทคโนโลยีของบริษัท Giesecke+Devrient4 มาประยุกต์ใช้ โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566 เพื่อประเมินประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย 

การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track) 

ธปท. เปิดให้ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไปเข้าร่วมนำเสนอรูปแบบทางธุรกิจ (Use cases) ในการพัฒนาต่อยอด Retail CBDC ผ่านโครงการ "CBDC Hackathon" โดย ธปท.จะทำการทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track) และด้านความสามารถในการเขียนโปรแกรม (Programmability) เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดบน Retail CBDC ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่หลากหลาย และช่วยให้ ธปท. นำมาปรับปรุงการออกแบบ CBDC ที่เหมาะสมกับบริบทของไทยในอนาคต 

โดย ธปท. ยังไม่มีแผนที่จะออก Retail CBDC เนื่องจากการออก CBDC ต้องพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงอย่างรอบด้านก่อน เพราะอาจส่งผลต่อระบบการเงินของประเทศได้

"โครงการอินทนนท์"

ทั้งนี้ "โครงการอินทนนท์" โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดยแบงก์ชาติ (retail central bank digital currency: retail CBDC) หรือ “เงินบาทดิจิทัล” ได้เริ่มต้นดำเนินโครงการ ในระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562