บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน หาเสียงเลือกตั้ง 66 พรรคใดจ่ายมากสุด

01 เม.ย. 2566 | 09:00 น.

เลือกตั้ง 66 "พลังประชารัฐ" ปะทะ "รวมไทยสร้างชาติ" ประชันนโยบาย "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ชิงฐานคะแนนเสียง 21 ล้านคน พรรคไหนให้มากที่สุด  

การเลือกตั้ง 2566 ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ทุกพรรคการเมืองต่างงัดไม้เด็ดออกนโยบายมาแย่งฐานเสียงจากประชาชนกันแบบดุเดือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโบายเพื่อคนรากหญ้าอย่าง "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" หรือ "บัตรคนจน" ที่ทางกระทรวงการคลังเปิดให้ลงทะเบียนรอบใหม่มียอดผู้ลงทะเบียนเพิ่มขึ้นจากฐานเดิมที่ 13.2 ล้านคนเป็น 21 ล้านคน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคการเมืองจะใช้นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้มาแย่งชิงฐานเสียงจากประชาชนกลุ่มนี้ 

จากการสำรวจของ ฐานเศรษฐกิจ พบว่า มี 3 พรรคการเมืองที่ประกาศนโยบาย "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" อย่างชัดเจน ดังนี้ 

พรรคพลังประชารัฐ 

ประกาศเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากเดิม 200-300 บาทต่อเดือน เป็น 700 บาทต่อเดือน เริ่มมีผลทันทีหากพรรคได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

พรรครวมไทยสร้างชาติ 

ให้สิทธิสวัสดิการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย 1,000 บาทต่อเดือน จากเดิมที่ให้แบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ พร้อมเรียกชื่อใหม่ว่า "บัตรสวัสดิการพลัส"เพื่อป้องกันการทับซ้อนกับการเรียก บัตรคนจน ของพรรคพลังประชารัฐ 

พรรคเพื่อไทย 

ยืนยันไม่ยกเลิกบัตรคนจน แต่จะปรับปรุงให้ดีมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีกินเหลือเก็บใช้หนี้ในวันข้างหน้า  

สำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นมาตรการของรัฐที่ออกมาเพื่อช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนในช่วงเศรษฐกิจตกต่อเนื่องมาช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - 19 ประกอบด้วย 

1.วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าฯ และร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน

2.วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน

3.วงเงินรวมค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ จำนวน 750 บาทต่อคนต่อเดือน โดยสามารถใช้โดยสารได้กับระบบขนส่ง 8 ประเภท ได้แก่

  • รถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
  • รถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
  • รถไฟฟ้า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) กับ รถไฟฟ้ามหานคร (MRT) และ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด
  • รถไฟ
  • รถเอกชนร่วม ขสมก. รถเอกชน และส่วนราชการกรุงเทพมหานคร
  • รถเอกชนร่วม บขส. และรถเอกชน
  • รถสองแถวรับจ้าง
  • เรือโดยสารสาธารณะ

4.อุดหนุนค่าไฟฟ้าจำนวน 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน 

5.อุดหนุนค่าน้ำประปาจำนวน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท