"ก้าวไกล"ยันไม่โหวต"เศรษฐา" ชี้เป็นรัฐบาลพิเศษ ที่ต้องจ่ายราคาแพง

22 ส.ค. 2566 | 06:04 น.

"ชัยธวัช"ยัน สส.ก้าวไกล ไม่โหวต"เศรษฐา"เป็นนายกฯชี้เป็นรัฐบาลพิเศษ รัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ไม่ใช่การสลายขั้วให้ประเทศไทยไปต่อ แต่คือการต่อลมหายใจให้ระบบการเมืองของระบอบ คสช. ยก 3 ต้นทุนที่ประชาชนต้องจ่าย

วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายโดยชวนให้คิดใหม่ว่า ในขณะที่หลายคนบอกว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษในครั้งนีเป็นความจำเป็นทางการเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

พรรคการเมืองและนักการเมืองจำเป็นต้องกลืนเลือด จำเป็นต้องยอมจ่ายต้นทุนทางการเมืองมหาศาล โดยมีวาระของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่แล้วอะไรคือราคาหรือต้นทุน ที่ประชาชนและสังคมไทยต้องจ่าย ให้แก่การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้บ้าง


 

เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงเหตุผลที่ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลไม่สามารถเห็นชอบนายกฯ ในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติ แต่เป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ขัดต่อเจตจำนงของพี่น้องประชาชนที่ได้แสดงออกไปแล้วอย่างตรงไปตรงมา ผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการยุติรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหารของ คสช. 

“พวกเราพรรคก้าวไกลยังเห็นด้วยว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ ไม่ใช่การสลายขั้วเพื่อให้ประเทศไทยไปต่อ แต่มันคือการต่อลมหายใจ ให้แก่ระบบการเมืองที่ระบอบ คสช. วางไว้ต้องการดำเนินสืบไป” 

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล
ต้นทุนที่ประชาชนและสังคมไทยต้องจ่าย หลายคนบอกว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษในครั้งนี้ เป็นความจำเป็นทางการเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พรรคการเมืองและนักการเมืองจำเป็นต้องกลืนเลือด จำเป็นต้องยอมจ่ายต้นทุนทางการเมืองมหาศาล โดยมีวาระของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่ตนอยากชวนคิดใหม่ว่า แล้วอะไรคือราคาหรือต้นทุน ที่ประชาชนและสังคมไทยต้องจ่าย ให้แก่การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้บ้าง

ประการแรก ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่าย คือ ‘ความหวัง’ การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เคยเป็นวันแห่งความหวังของประชาชน พวกเขาหวังว่าเสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองไทยออกจากระบอบการเมืองที่เป็นมรดกของคณะรัฐประหารได้โดยสันติในที่สุด พวกเขาหวังว่าเสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปสู่อนาคต ไม่ใช่เดินวนกลับไปสู่อดีตอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

"ก้าวไกล"ยันไม่โหวต"เศรษฐา" ชี้เป็นรัฐบาลพิเศษ  ที่ต้องจ่ายราคาแพง

ประการที่สอง ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่ายให้การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้ คือ อำนาจ พี่น้องประชาชนเคยเชื่อจริงๆ ว่าอำนาจสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย คืออำนาจของประชาชน แต่เมื่อพวกเขาออกไปใช้อำนาจของตัวเองแล้วในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

ปรากฏว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งกลับกลายเป็นการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษ ที่อนุญาตให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้พอเป็นพิธี แต่จะไม่มีวันยอมให้อำนาจเป็นของประชาชนจริงๆ กลายเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีประชาชนเป็นไม้ประดับ ไม่ใช่เจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

ประการที่สาม ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องจ่าย คือ ‘ความศรัทธา’ การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษนี้ กำลังทำให้เราสูญเสียต้นทุนทางสังคมที่สำคัญ นั่นคือความศรัทธาของประชาชนในระบบรัฐสภา ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนเป็นพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตย แล้วเมื่อไรที่ประชาชนหมดศรัทธาต่อระบบการเมืองหรือสถาบันการเมืองใดๆ แล้ว นั่นจะเป็นสัญญาณอันตรายต่อการเมืองของเราในอนาคต