กกต.เคาะ 14 พ.ค. “เลือกตั้ง” ได้รัฐบาลชุดใหม่ส.ค.

23 มี.ค. 2566 | 14:40 น.

กกต.เคาะแล้ว วันเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 เร่งส่ง 5 ประกาศ กกต.ลงราชกิจจาฯ ประชุมสภาฯ นัดแรกภายใน 75 วันหลังเลือกตั้ง คาดเห็นโฉมหน้าครม.ใหม่ส.ค.นี้

การเมืองไทยเดินหน้าเข้ากรอบการเลือกตั้งทั่วไปแน่นอนแล้ว เมื่อราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อราว 15.00 น.ของวันที่ 20 มี.ค.2566 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาฯ

วันอังคาร 21 มี.ค.2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรียกประชุมกรรมการเต็มคณะทันที โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างแผนการจัดการเลือกตั้งส.ส. ตามที่สำนักงาน กกต. เสนอ ที่กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.2566 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป โดย มีปฎิทินภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการ ดังนี้

3-7 เม.ย. วันรับสมัครส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง ณ สถานที่ที่ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศกำหนด

4-7 เม.ย. วันรับสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และพรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่จะเสนอแต่งตั้งเป็นนายกฯ ที่ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง

27 มี.ค-13 เม.ย. ช่วงยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง (ขอลงคะแนนล่วงหน้า)

7 พ.ค. วันออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง (ลงคะแนนล่วงหน้า)

14 พ.ค. วันออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไป

7-13 พ.ค. และ 15-21 พ.ค. ช่วงการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (วันที่ 7 พ.ค. หรือ 14 พ.ค.) 

รวมทั้งเห็นชอบร่างประกาศ กกต. เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งส.ส. 5 ฉบับ ประกอบด้วย

1.ร่างประกาศกกต. เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง วันรับสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ

2.ร่างประกาศ กกต. เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด โดยใช้ข้อมูลตามประกาศคณะกรรมการ กกต. เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้ง และท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มี.ค.2566

3.ร่างประกาศคณะกรรมการ กกต. เรื่อง การสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

4.ร่างประกาศคณะกรรมการ กกต. เรื่อง กำหนดวันและเวลายื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง โดยกำหนดให้ยื่นคำขอลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.-13 เม.ย. 2566 และ

5.ร่างประกาศคณะกรรมการ กกต. เรื่อง กำหนดวันและเวลาออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลาง สำหรับที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง ที่เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้ง และที่เลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ

ซึ่งสำนักงาน กกต. จะได้ส่งร่างประกาศดังกล่าวให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็ว

ทั้งนี้ หลังวันเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พ.ค. 2566 จากนั้นภายใน 60 วัน หรือภายใน 14 ก.ค. 2566 กกต.จะต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เมื่อตรวจสอบแล้วว่าการลงคะแนนเขตนั้นเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 95% ของส.ส.เขตเลือกตั้ง

หลังจากประกาศรับรองส.ส.แล้ว ต้องจัดการประชุมสภาครั้งแรกภายใน 15 วัน หรือช่วงปลายเดือนก.ค.หรือต้นเดือนส.ค.2566 และการประชุมนัดแรก ๆ จะเป็นการโหวตหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อไปฟอร์มคณะรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศต่อไป

ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 มี.ค.2566 ได้เห็นชอบแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี สถานะของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามมาตรา 169 (2) และ (3) ของรัฐธรรมนูญ ระเบียบคณะกรรมการ กกต. ว่าด้วยเรื่องการใช้ทรัพยากรหรือบุคคลของรัฐที่จะมีผลต่อการเลือกตั้ง รวมทั้งอ้างอิงถึงระเบียบและมติครม. ที่เกี่ยวข้องกับแนวปฎิบัติของครม.ช่วงมีการยุบสภา

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า โดยผลของการยุบสภา ทำให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แต่ยังอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฎิบัติหน้าที่ต่อ โดยยังคงได้รับเงินเดือนและยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน และยังคงบริหารราชการแผ่นดินเท่าที่จำเป็นได้ทุกประการ โดยครม.ยังคงประชุมตามปกติ จนกว่าจะมีครม.ใหม่เข้ารับตำแหน่ง

ทั้งนี้ ครม.ช่วงยุบสภาจะไม่อนุมัติโครงการที่ผูกพันรัฐบาลใหม่ ไม่อนุมัติงบกลาง ไม่แต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐ เว้นแต่จำเป็นเร่งด่วนและได้รับความเห็นชอบจากกกต.ก่อน ไม่ใช้ทรัพยากรหรือบุคคลของรัฐไปกระทำการใดอันมีผลต่อการเลือกตั้ง เช่น จัดประชุมครม.นอกสถานที่ จัดอบรมสัมมนาที่ใช้งบของรัฐ แต่การประชุมสัมมนาที่กำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนยุบสภา หรือจัดเป็นปกติของหน่วยงาน ให้รัฐมนตรีเข้าร่วมได้ แต่ต้องไม่เป็นการหาเสียง เป็นต้น

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ตอบรัฐมนตรีที่มีข้อซักถามประสบการณ์ของตน โดยเฉพาะข้อห่วงใยเวลาไปร่วมงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ แล้วพิธีกรหรือโฆษกแนะนำว่าเป็นรัฐมนตรีที่เตรียมสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งได้แนะนำไปว่า ถ้ามีเหตุการณ์เช่นนี้อย่าขึ้นเวที

หรือมีชาวบ้านมามอบดอกไม้ กอดหรือหอมแก้ม กกต.แนะนำว่ารับได้แต่อย่าไปตอบอะไรทั้งสิ้น ไว้เสร็จช่วงปฎิบัติราชการก่อนแล้วค่อยคุยกัน ไปร่วมงานแต่งและขึ้นเวทีอวยพรได้ แต่อย่าแนะนำตัวว่าลงสมัครรับเลือกตั้ง และระวังจะเผลอไปแขวะพรรคการเมืองอื่น