กกต.จ่อถกไทม์ไลน์เลือกตั้ง 21 มี.ค. หาก"ยุบสภา"วันนี้

20 มี.ค. 2566 | 05:20 น.

เลขาฯกกต.พบ"วิษณุ" แจงรายละเอียด ม.169 ห้ามใช้ทรัพยากร-บุคลากรของรัฐ ส่วนวันเลือกตั้ง ครม.-ประชาชนต้องรู้พร้อมกัน หากยุบสภาวันนี้ 21 มี.ค. กกต.นัดประชุมหารือสรุปไทม์ไลน์เลือกตั้ง

วันนี้ (20 มี.ค.2566) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุถึงการเข้าหารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ว่า ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายในมาตรา 169 ทั้งเรื่องการลงพื้นที่หาเสียงในอำนาจของคณะรัฐมนตรีรักษาการ

เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย ซึ่งไม่ได้มีการตกลงเรื่องการเลือกตั้ง แต่เน้นการพูดคุยมาตรา 169 ที่ กกต.ออกระเบียบกำหนดข้อห้ามการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง

ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต.และน่าจะประกาศหลังการยุบสภา ซึ่งในวันนี้นายวิษณุ ยังไม่ได้แจ้งให้ทราบว่าวันนี้จะมีการประกาศยุบสภาหรือไม่
 

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง

นายแสวง กล่าวถึงความเป็นไปได้ในเลือกตั้งจะเป็นวันที่ 7 พ.ค. หรือ 14 พ.ค.ว่า  ตามกฎหมายคือไม่น้อยกว่า 45 วันและไม่เกิน 60 วัน แต่ประเด็นคือจะเลือกให้เป็นวันหยุด และรัฐบาล ไม่ได้เสนอความเห็นวันที่จะเลือกตั้ง  

เมื่อถามว่าวันหยุดยาว วันหยุดสั้น จะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ หรือไม่ นายแสวง กล่าวยืนยันว่า เป็นไปตามกฎหมาย ไม่รู้ว่าจะตกอยู่ในช่วงวันไหน ภายใน 45 วัน และไม่เกิน 60 วัน

เมื่อถามว่ามีพรรคการเมืองไปร้องศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉินกรณีการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง กังวลว่าจะทำให้วันเลือกตั้งขยายออกไปหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า กกต.เดินตามรัฐธรรมนูญ เวลาก็เดินตามที่รัฐธรรมนูญเช่นกัน

เมื่อถามว่ามีแผนอื่นกำหนดไว้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่มี เป็นไปตามกรอบเวลา เพราะกฎหมายให้ทำอย่างนั้น หากมีการไต่สวนฉุกเฉินก็คงต้องรอดูว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามว่ามีนักการเมืองร้องเรียนเรื่องเขตเลือกตั้งในหลายพื้นที่ กกต.จะต้องดำเนินการอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้สิทธิ์ตามกฎหมายและกกต. ก็จะต้องรอศาล คงจะคาดเดาอะไรก่อนไม่ได้ ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

“ยืนยันว่าการพูดคุยกับนายวิษณุวันนี้มีเรื่องเดียวคือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 169 ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลหรือ ครม.ก็ต้องควรรู้เท่ากับคนอื่น เพราะเรื่องของ กกต. ไม่ใช่เรื่อง ครม. การกำหนดไทม์ไลน์ต่างๆเป็นเรื่องของ กกต. หากครม.รู้ คนอื่นก็ต้องรู้เท่ากัน ประชาชนก็ต้องรู้เท่ากัน” นายแสวง กล่าว

เมื่อถามว่าประชาชนต้องเตรียมตัวอย่างไร หากพระราชกฤษฎีกายุบสภาประกาศในวันนี้ นายแสวง กล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะประชุมกันในวันพรุ่งนี้หากมีการยุบสภาในวันนี้ ซึ่งกกต.เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว ซึ่งจะมีการพิจารณาร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันรับสมัคร กำหนดวันเลือกตั้ง กำหนดเขตเลือกตั้ง สำหรับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่จะไปสมัคร


เมื่อถามว่าวันสมัครจะเป็นวันที่ 3 หรือ 7 เมษายน นายแสวง กล่าวว่า ขอให้รอผลจาก กกต.พิจารณาก่อน ซึ่งถือเป็นอำนาจของกกต. ภายหลังจากที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา ในราชกิจจานุเบกษา ทาง กกต. ได้มีการนัดประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ในวันพรุ่งนี้​ (21มี.ค.66) ซึ่งขณะนี้​ทาง กกต. ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ทุกด้านแล้ว พร้อมย้ำว่า กกต.ไม่ได้คิดต่างกับประชาชน

เมื่อถามว่าการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 7 หรือ 14 พ.ค. มีความแตกต่างกันอย่างไร นายแสวง ย้ำว่า เป็นไปตามกรอบกฎหมาย

กรณีมีหลายพรรคการเมืองออกมาร้องเรียนจะทำให้การเลือกตั้งสะดุดลงหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองเป็นนายทะเบียน ได้ทำตามกฎหมาย​ทุกอย่าง บนการแข่งขัน อย่าไปกังวลอะไรมากถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ซึ่งปล่อยให้เป็นเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ 

อย่างไรก็ตามกฎหมายยังคงให้ความคุ้มครองทุกคนที่ยังไม่ได้ทำความผิด และเมื่อถามว่าจะเก็บไว้เพื่อดำเนินการตามหลังหรือไม่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ไม่สามารถพูดไปก่อนล่วงหน้าได้ หากคนทำผิดก็ต้องผิด หากดีก็ดีแน่ ซึ่งทุกอย่างต้องไปดูที่ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยบางการกระทำ​ กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าเป็นการกระทำความผิดก็ได้ เราต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ที่มาร้องและผู้ที่ถูกร้อง

เมื่อถามว่า การแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง ท้องถิ่นที่ลงในราชกิจจานุเบกษาวันนี้ ระบุให้ข้าราชการทางการเมืองช่วยหาเสียงได้  นายแสวง กล่าวว่า เป็นเรื่องของสภาตนไม่สามารถตอบแทนได้ ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น หากกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ก็คงไปริดรอนสิทธิ์เขาไม่ได้ อยู่ที่วันออกกฎหมายว่าสภาเขาคิดอย่างไร

เมื่อถามว่าข้าราชการการเมือง จะสามารถช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า กฎหมายทุกเรื่องกำหนดชัดไว้แล้ว และหน้าที่ของ กกต. ต้องบริหารสถานการณ์การเลือกตั้งให้เป็นไปตามความเรียบร้อย

"ทุกคนควรอยู่กับที่ที่ควรอยู่ทั้งกกต. นักการเมือง ประชาชน และรัฐบาล  ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งกกต. จากบริหารสถานการณ์ไปจนถึงวันเลือกตั้ง ดังนั้นขอให้มั่นใจและสบายใจได้ ว่ากกต. จะทำงานอย่างเต็มที่"