นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) ได้มอบนโยบายแก่สำนักงาน กสทช. ให้ดำเนินการจัดให้มีระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เป็นนโยบายเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยส่งเสริมให้มีระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เชื่อมกับระบบการสั่งการของรัฐบาล
นายไตรรัตน์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุมัติกรอบวงเงินที่จะนำมาหักลดหย่อนรายได้ที่ต้องจัดสรรเพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) จากการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินฯ เฉพาะเงินสนับสนุนระบบ Cell Broadcast Center (CBC), Core Network, Radio Network และค่าบำรุงรักษาระบบ จำนวน 3 ปี ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เหลือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารอ NT ส่งข้อมูลมาเพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ทดสอบระบบเตรียมความพร้อมแล้ว และพร้อมเชื่อมกับระบบสั่งการของรัฐบาลที่จะเป็นผู้แจ้งเตือนภัยผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
นอกจากนี้ ยังเตรียมทดสอบระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน Emergency Warning System (EWS) สำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ซึ่งได้พัฒนาระบบแจ้งเตือนเหตุ เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องรายการทีวีดิจิทัล โดยเตรียมเสนอให้ กสทช. พิจารณาอนุญาตและส่งเสริมให้เกิดการใช้งานโดยเร็ว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2567 เอไอเอส ได้แถลงทดสอบระบบ Cell Broadcast จากนั้นวันที่ 3 ก.ค. 2567 ทรู ได้เปิดทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือเสมือนจริงเช่นเดียวกัน โดยการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินจะเป็นรูปแบบการแสดงข้อความ หรือ Pop Up บนหน้าจอโทรศัพท์ พร้อมสัญญาณเสียง เป็นการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายพร้อมกันแบบรอบเดียว ครอบคลุมพื้นที่ที่เกิดเหตุ โดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชัน
ล่าสุดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อยู่ระหว่างติดตั้งโครงข่ายเพื่อรองรับการส่งข้อความคาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาสที่ 4 ปีนี้ โดยเร็ว ๆ นี้สำนักงาน กสทช. จะร่วมกับภาครัฐ และเอกชน ลงพื้นที่ จ. เชียงใหม่ และภูเก็ตเพื่อทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ด้วย
ก่อนหน้านี้ บอร์ด กสทช. ได้อนุมัติวงเงิน 1,030,961,235.54 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับการจัดทำและบำรุงรักษาระบบแจ้งเตือนภัยดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยงบประมาณครอบคลุมค่าใช้จ่ายของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ส่วนบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ให้นำแผนกลับไปปรับปรุงและเสนอเข้าที่ประชุมอีกครั้ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เสนอครั้งนี้สูงเกินไป เพราะโอเปอเรเตอร์แต่ละรายต้องเฉลี่ยไม่เกิน 340 ล้านบาท.