ที่ปรึกษาประธาน กสทช. ปลุกทุกองค์กรเร่งสร้างบุคลากรดิจิทัล สู้ภัยไซเบอร์

19 มี.ค. 2567 | 03:29 น.

ที่ปรึกษาประธาน กสทช. ปลุกทุกองค์กรเร่งสร้างบุคลากรดิจิทัล สู้ภัยคุกคาม AI และอาชญากรรมทางไซเบอร์ ย้ำบทบาท กสทช.ร่วมปกป้องประชาชน เข้าถึงระบบสื่อสารอย่างปลอดภัย

นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. ร่วมเวทีสัมมนา NEXT STEP THAILAND 2024 : Tech & Sustain จัดโดยสปริงนิวส์เครือเนชั่นกรุ๊ป โดยมีภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เพราะทุกฝ่ายตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งบวกและลบจากนวัตกรรม AI ในปี 2024 และอนาคต

นายพชร กล่าวในหัวข้อ “AI ต่อภัยโครงสร้างพื้นฐานการกระจายเสียง การสื่อสาร และโทรคมนาคมของประเทศไทย” ว่า ปัจจุบันผู้บริหารทุกองค์กรต้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะการเติบโตของ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) แม้เป็นนวัตกรรมที่ออกแบบมาช่วยมนุษย์หลายด้าน แต่ก็เป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจ สังคม และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ดังนั้น ทุกคนมีหน้าที่ช่วยรัฐบาลปกป้องประชาชนจากภัยเหล่านี้ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

รายงานของ World Economic Forum (WEF) 2024 เรื่องภัยความมั่นคงทางไซเบอร์ ระบุว่า มีภัยทางออนไลน์อย่างน้อย 5 เรื่องเกิดจาก AI ประกอบด้วย การส่งข้อมูลผิดๆเพื่อให้คนหลงเชื่อ (Misinformation) การสร้างข้อมูลให้เกิดความสับสน (Automated disinformation) การสร้างภาพและเสียงให้คนหลงเชื่อ (Deepfakes) การโฆษณามุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย (Targeted advertising)  และการจัดการระบบประมวลผลในโซเชียลมีเดีย (Algorithmic manipulation of social media)

“สังคมมีทั้งคนดีและผู้ร้ายเสมอ ดังนั้น นวัตกรรม AI ก็เป็นผู้ช่วยได้ทั้งคนดีและผู้ร้าย”

นายพชร สะท้อนว่า จากการสำรวจของ WEF ผู้บริหารส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มองว่าสังคมยังมีช่องโหว่ด้านบุคลากรโดยเฉพาะภาครัฐที่ขาดแคลนคนเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา นำระบบ AI มาปกป้องประชาชน ขณะนี้จึงมีภัยทางไซเบอร์นำ AI มาทำร้ายคนดี เกิดขึ้นจำนวนมาก หน่วยงานที่ไม่ใช่ภาคเอกชน ล้วนประสบภาวะขาดแคลนคนทำงาน นี่เป็นเรื่องจริง แม้แต่ กสทช. ก็ยังไม่มีบุคลากรเพียงพอที่จะมาทำงานในเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ เราไม่ได้พูดถึงคนเขียนโค้ดได้ หรือ คนเล่นคอมพิวเตอร์เป็น แต่ต้องการคนที่จะเข้าใจภาพรวมของภัยความมั่นคงทางไซเบอร์ด้วย

 

นายพชร นริพทะพันธุ์

มุมมองของที่ปรึกษาประจำประธานกสทช. เห็นว่า ภัยคุกคามเน้น 4 มิติ หรือ 4 Dimension on infrastructure and security ซึ่งอนาคตจะกลายเป็นอุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Defense) ประกอบด้วย มิติแรกคือ การเมืองระหว่างประเทศ (Geopolitics)  มิติที่ 2 ความมั่นคงแห่งชาติ (National security) มิติที่ 3 การเมืองในประเทศ (Political) และมิติที่ 4 สังคม (Society)

“ภัยทั้ง 4 มิตินี้ ครอบคลุมทุกหน่วยงานของประเทศไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้น การขับเคลื่อนเพื่อสร้างบุคลากรดิจิทัล เป็นสิ่งหนึ่งของนโยบายของรัฐที่จะต้องทำให้สำเร็จให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสี่ยงที่จะถูกโจมตี และไร้เสถียรภาพทางสังคม”

สำหรับบทบาทของ กสทช. คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบสื่อสาร โทรคมนาคม อินเตอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกันและปลอดภัย ดูแลปกป้องผู้ใช้งานคนไทยใน 7 ประตู (User Safety) ประกอบด้วย ดาวเทียมวงโคจรสูง (HEO)  ดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (GEO) ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) เคเบิลใต้น้ำ (Submarine Cable) เครือข่ายไฟเบอร์ออฟติกใยแก้วนำแสงข้ามทวีป (Wireless Telecommunication Fiber Optic Cable ) การเชื่อมต่อข้อมูลข้ามประเทศ  (Gateway) และ ระบบโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต (Wireless Telecommunication)

“ประตูทั้ง 7 เชื่อมต่อถึงคนไทย กสทช. จึงมีหน้าที่ต้องปกป้องและออกแบบนโยบาย แต่จะทำอย่างไรถ้าบุคลากร ยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยี หรือความรู้ไม่เพียงพอ ดังนั้น เราต้องมีพันธมิตร นับตั้งแต่ 2 ปีที่ได้ทำงานกสทช. สิ่งแรกที่ผลักดันคือการทูตไซเบอร์ (Cyber Diplomacy) เรามีปฏิญญาบูดาเปสต์ปี 2023 สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กล่าวถึงการสร้างพันธมิตรเครือข่ายปกป้องภัยไซเบอร์ AI ร่วมกัน”

ที่ปรึกษาประจำประธานกสทช. เชื่อมั่นว่า การสร้างพันธมิตรต่อสู้กับ AI อาชญากรรมหรือภัยทางไซเบอร์จะประสบความสำเร็จได้นั้น ประเทศไทยต้องออกแบบโครงสร้างพื้นฐานประเทศ สถาปัตยกรรมทางดิจิทัลของเราอย่างถูกทิศทางด้วย นำไปสู่การพัฒนาบุคลากร ความรู้เชื่อมต่อกัน เกิดเป็นภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งในอนาคต.