รมว.ดีอี ร่วมคณะนายกฯลุยปักกิ่ง หารือ Xiaomi – Alibaba ลงทุนในไทย

18 ต.ค. 2566 | 07:46 น.

รมว.ดีอี ร่วมคณะของนายกฯหารือกับ Xiaomi และ Alibaba Group พร้อมสนับสนุนการขยายตลาดและการลงทุนด้านเทคโนโลยี และ อีคอมเมิร์ซ ให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อขยายธุรกิจลงทุนในประเทศไทย

วานนี้ (17 ตุลาคม 2566) ที่กรุงปักกิ่ง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงฯ ได้เข้าร่วมคณะของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปยังกรุงปักกิ่ง เพื่อหารือกับ Mr. Alain Lam, Vice President, CFO โดยบริษัท Xiaomi ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของจีน ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีนวัตกรรมขั้นสูง รวมถึงอุปกรณ์อัจฉริยะ Smart IoT ที่มีเครือข่ายและธุรกิจทั่วโลก และได้จัดตั้งบริษัท Xiaomi Technology (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี 2561  เพื่อจำหน่ายและทำการตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย

โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณที่บริษัทเชื่อมั่นในประเทศไทย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการสนับสนุนการขยายตลาดและการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบทางธุรกิจในด้านการลงทุนและการขยายตลาดในพื้นที่ ทั้งนี้ ในการหารือ บริษัทยินดีที่จะขยายการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในไทยสำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัท และนำสู่ตลาดโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้ความสามารถและทักษะการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของแรงงานไทย เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือและมีทักษะ

จากนั้น ได้หารือกับ Mr. Fan Jiang, CEO บริษัท Alibaba International Digital Commerce Group ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม Alibaba Group ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัท e - commerce รายใหญ่ของโลก ที่ให้บริการและพัฒนาระบบการค้าออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ ระบบ Alibaba Cloud Computing สื่อดิจิทัลและระบบการชำระเงิน Alipay โดยนายกฯ ได้เชิญชวนการขยายการลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัล โลจิสติกส์ และ Cloud Service  โดยทางบริษัทฯ ยินดีสนับสนุนการพัฒนาทักษะให้กับไทยผ่านรูปแบบ e-training ได้แก่ E-commerce training สำหรับบุคลากรและแรงงานไทย  รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในด้านดิจิทัล พร้อมขยายความร่วมมือด้านการลงทุน และเสนอให้มีการจัดตั้ง smart digital hub ในไทยด้วย

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ได้พบปะหารือกับภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ของจีนและถือเป็นผู้นำธุรกิจระดับโลก ถือเป็นโอกาสสำคัญที่นายกรัฐมนตรีเพิ่มความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนจีน และทั่วโลก ในด้านความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของไทย โครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล และการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นโอกาสในการยกระดับการลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรม เร่งฟื้นเศรษฐกิจประเทศ

รมว.ดีอี ร่วมคณะนายกฯลุยปักกิ่ง หารือ Xiaomi – Alibaba อวดเทคฯ ไทยโกอินเตอร์

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี ได้และเปลี่ยนกับกลุ่มนักลงทุน 5 กลุ่มดังนี้

  • กลุ่ม CITIC บริษัทฯ ยักษ์ใหญ่ของจีนที่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร และใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งสนใจลงทุนใน PPP Projects ขนาดใหญ่ของไทย โดยได้เชิญชวนทาง CITIC มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy , อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ
  • CRRC Group ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีนที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก และได้เข้ามาลงทุนในเรื่องการสร้างระบบรางรถไฟในไทยแล้ว จึงได้เชิญชวนให้เข้ามาสร้างโรงงานผลิตหัวจักรรถไฟในไทย และยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการต่อยอดโครงการ LANDBRIDGE ในไทย ที่จะเข้ามาสร้างระบบการขนส่งทั้งระบบ ทั้งรถไฟความเร็วสูง และระบบรถไฟรางคู่ด้วย
  •  Ping An หนึ่งในสามบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยบูรณาการด้านการเงินและการบริการด้านสุขภาพเข้าด้วยกัน รวมถึงธุรกิจประกันภัย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณการลงทุนในไทยหลายสาขา พร้อมเชิญชวนให้ขยายการลงทุนในสาขาประกันภัยที่บริษัทมีศักยภาพ ใช้ประโยชน์จาก Health Care และ Wellness ของไทย
  •  XIAOMI เป็นบริษัทชั้นนำในสินค้า Smartphone และอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านที่ใช้อินเตอร์เน็ต (IOT) ได้เข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย และจ้างงานคนไทยจำนวนมาก แต่ยังติดปัญหาในเรื่องใบอนุญาตต่างๆ ที่ทางรัฐบาลจะเร่งรัดให้เกิดความรวดเร็วเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต โดยเฉพาะการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่จะมีโอกาสสามารถขยายฐานการลงทุนในไทยได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วน Electronics ต่างๆ
  •  Alibaba ซึ่งที่ผ่านมามีการลงทุนในไทยและจ้างงานคนไทยกว่าพันคน โดยทาง Alibaba อยากให้ประเทศไทยสนับสนุน Digital economy ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ไทยขอให้ Alibaba เปิดโอกาสให้ SME ไทยได้ขายสินค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ