การนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้กับ Blockchain

05 ก.ค. 2566 | 10:24 น.

ในช่วงที่ผ่านมากระแสของ AI นั้นมาแรงพอสมควร ตั้งแต่ที่บริษัท OpenAI เปิดตัว ChatGPT สู่สาธารณชนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 ปัจจุบันหลายบริษัทเทคโนโลยีได้ก้าวกระโดดตามกระแส AI ซึ่งรวมไปถึงบริษัท และ VC ในวงการคริปโตฯ ที่ได้หมุนตัวเองมาให้ความสนใจในด้าน AI มากขึ้นด้วย

AI หรือปัญญาประดิษฐ์ คือระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถคิดและตอบโต้ได้เหมือนกับมนุษย์ เช่น ChatGPT (Chat Generative Pre-training Transformer) ซึ่งเป็นโมเดลภาษาที่ถูกออกแบบให้ตอบโจทย์คำถามหรือข้อสงสัยในลักษณะที่เหมือนกับการสนทนากับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ การเขียนโค้ด หรือแม้แต่การแต่งเนื้อเพลง

การนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้กับ Blockchain

สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปสามารถใช้ ChatGPT ผ่านเว็บไซต์และแอปบนมือถือได้ และสำหรับผู้ใช้งานมืออาชีพที่อยากเชื่อมต่อ ChatGPT กับโปรแกรมอื่นๆ สามารถเชื่อมต่อผ่าน API ได้อีกด้วย ซึ่งหนึ่งในบริษัทในวงการบล็อกเชนที่ได้เริ่มนำเทคโนโลยี AI ไปใช้คือ Etherscan 

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ทาง Etherscan ซึ่งเป็นเครื่องมือสำรวจบล็อกเชน (Block explorer) ยอดนิยมที่ให้ข้อมูลบนเครือข่าย Ethereum ได้เปิดตัว ‘Code Reader’ เครื่องมือใหม่ที่ใช้โมเดลภาษา AI ของบริษัท OpenAI ในการวิเคราะห์ Smart Contract และช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเรียนรู้ถึงโค้ดโปรแกรมของ Smart Contract ได้อีกด้วย โดยผู้ใช้งานจำเป็นต้องมี API Key ของ OpenAI ในการใช้งาน

ผู้ใช้งานสามารถใช้ ‘Code Reader’ เพื่อทำความเข้าใจภาพรวมของโค้ด และเรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกผ่านการถามคำถามและผ่านบทสนทนากับ AI ผู้ใช้งานสามารถใช้ AI ในการดึงฟังก์ชันต่างๆ สำหรับการอ่านและเขียนข้อมูลบนเครือข่าย Ethereum และสามารถให้ AI อธิบายการทำงานของฟังก์ชันนั้นๆ อย่างละเอียดเพื่อช่วยในการตัดสินใจ นอกเหนือจากนี้ยังสามารถใช้ในการทำความเข้าใจวิธีการเชื่อมต่อ Smart Contract กับ dApps หรือแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ‘Code Reader’ ยังอยู่ในช่วงการทดสอบ Beta และมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่ ดังนั้นผู้ใช้งานจึงควรตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับกับแหล่งข้อมูลอื่นๆ ด้วยเพื่อความถูกต้อง

ทั้ง AI และบล็อกเชนต่างเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงการทำงานและอุตสาหกรรมมากมาย และเมื่อนำมาใช้ร่วมกันจะก่อให้เกิดโมเดลธุรกิจและรูปแบบการทำงานในรูปแบบใหม่