มติบอร์ด กสทช. 4:3 ล้มประมูลเทเลเฮลท์ มูลค่า 3,800 ล้านบาท

22 พ.ค. 2566 | 12:55 น.

มติบอร์ด กสทช. โหวต 4:3 ล้มประมูลโครงการเทเลเฮลท์ มูลค่า 3,800 ล้านบาท หลังการเมืองเปลี่ยนขั้ว พรรคก้าวไกล คะแนนอันดับหนึงพรรคร่วมหนุนจัดตั้งรัฐบาล โหวต “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นั่งนายกฯ

ความคืบหน้ากรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ประจำปี 2565 ฉบับที่ 2 ภายใต้แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2565) โครงการโทรเวชกรรมถ้วนหน้า (Universal Telehealth Coverage : UTHC) หรือ เทเลเฮลท์ ตามโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง (Universal Service Obligation :USO) ตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานเพื่อมิติเชิงสังคม และมีส่วนของระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุขได้ งบประมาณ 3,850 ล้านบาท 

ล่าสุดแหล่งข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา บอร์ดกสทช. มีการประชุมนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างแผนปฏิบัติการดังก่าว โดยมติบอร์ด กสทช. ลงคะแนน 4:3 ยกเลิกโครงการดังกล่าวแล้ว และให้สำนักงานกสทช.นำโครงการอื่นที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม เพื่อรองรับระบบสาธารณสุข มาเสนอแทนทันที เช่น การขยายโครงข่ายโทรคมนาคมในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) โดยเฉพาะในพื้นที่ชายขอบ ในครั้งต่อไป เป็นต้น 

เปิดรายชื่อบอร์ด 4 คน โหวตล้มโครงการเทเลเฮลท์

  • นางสาวพิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์
  • พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง
  • นายศุภัช ศุภชลาศัย กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์
  • นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช.ด้านโทรคมนาคม

ขณะที่บอร์ด 3 คน ที่ยกมือโหวตให้โครงการเดินหน้าต่อ 

  • นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.
  • นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  •  พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร

สำหรับรายละเอียดของโครงการดังกล่าวภายใต้งบประมาณ 8,000 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็น 2 แผนยุทธศาสตร์ ดังนี้

 แผน 1 วงเงิน 5,000 ล้านบาท เป็นการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานเพื่อมิติเชิงสังคม

  • ระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุข 3,850 ล้านบาท หรือ เทเลเฮลท์
  • ระบบโทรคมนาคมเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสในสังคม 1,000 ล้านบาท

แผน 2 วงเงิน 3,000 ล้านบาท

  • ระบบโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ 2,000 ล้านบาท
  • ระบบโทรคมนาคมเพื่อความมั่นคง 1,000 ล้านบาทภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 13 เขตสุขภาพ แบ่งเป็น 1,147 หน่วยบริการ.