แนะรัฐบาลใหม่ หนุนเทคโนโลยีไทยลดขาดดุลดิจิทัล2แสนล้าน

09 เม.ย. 2566 | 08:51 น.

เทคกูรู แนะรัฐบาลใหม่ ส่งเสริม เทคโนโลยีคนไทย ลดพึ่งพาต่างประเทศ ลดขาดดุลการค้าดิจิทัล 2 แสนล้านบาท “ภาวุธ” ชงพัฒนาต่อยอด“ทราฟฟี่ฟองดูว์-เป๋าตัง”สู่แพลตฟอร์มระดับชาติ ขณะที่สมาคมผู้ประกอบการ AI จี้เร่งหนุน AI สายพันธุ์ไทย ส่วน THAI STARTUP วอนเปิดโอกาสรับงานรัฐ

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าจากการประเมินการขาดดุลการค้าทางดิจิทัลปี 2565 ที่ผ่านมาจากการจัดเก็บภาษีบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES) เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้คาดว่าคนไทยมีการจ่ายเงินให้กับแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศราวปีละ 2 แสนล้านบาท

แนะรัฐบาลใหม่ หนุนเทคโนโลยีไทยลดขาดดุลดิจิทัล2แสนล้าน

ทั้งนี้มองว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาภายหลังการเลือกตั้งจำเป็นต้องลดการขาดดุลการค้าทางดิจิทัลลงมา เนื่องจากเป็นตัวเลขการขาดดุลที่สูงมาก เมื่อเทียบการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป และมูลค่าการส่งออกข้าวไทย ทั้งยังมีแนวโน้มการเติบโตมากขึ้น เนื่องจากคนไทยมีการใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการทำงานนำเทคโนโลยีมาใช้กับประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ “เอกชนจะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์มากว่าภาครัฐ”

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในการแผนและการทำงานคือ จะเป็นการทำงานแบบ “เอกชนนำ และรัฐสนับสนุน” เดินและเติบโต สนับสนุนไปด้วยกัน โดยกรอบและแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ คือ “เทคโนโลยีดิจิทัล” จะเป็น “สิ่งสำคัญและเป็นพื้นฐาน” ที่จะอยู่ในทุกๆ นโยบาย ทุกหน่วยงานต้องมี และนำมาใช้ ก่อนจะทำอะไร ”อย่าเพิ่งคิดและทำอะไรใหม่” โดยกลับมาพิจารณาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่มีอยู่ก่อนว่าสามารถพัฒนาต่อยอดหรือสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างไร​ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), NECTEC หรือ Startup ไทย ที่ประเทศได้ลงทุน และทำไปแล้ว

 “รัฐควรรู้ว่ามีอะไร และนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ก่อนที่จะสร้างใหม่”แพลตฟอร์มสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่ และมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเมือง โดยเทคโนโลยีที่ NSTDA พัฒนาขึ้นมาโดยเงินรัฐ มีโครงการที่ดีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) แพลตฟอร์มสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่ และมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเมือง ที่กรุงเทพมหานครนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งควรขยายการใช้งานไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ”

นอกจากนี้ยังควรผลักดันแพลตฟอร์มระดับชาติขึ้นมาเพื่อลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศ เช่น แอปเป๋าตัง ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านคน ควรเปิดให้หน่วยงานรัฐ หรือ เอกชน เข้ามาเชื่อมต่อบริการมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลต้องเร่งต่อยอดโครงการทางรัฐ ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อผลักดันให้หน่วยงานราชการพัฒนาบริการดิจิทัลเซอร์วิสเพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนที่แท้จริง

นายภาวุธ กล่าวต่อไปอีกว่าขณะเดียวกันนโยบายของรัฐ ควรมุ่งการผลักดันการส่งออกดิจิทัล โดยมีการตั้งฑูตพาณิชย์ดิจิทัลขึ้นมา เพื่อมองหาตลาด หรือ สนับสนุนการส่งออกดิจิทัลคอนเท้นต์ หรือ ซอฟต์เพาเวอร์ของไทยไปยังต่างประเทศ โดยไทยมีคอนเท้นต์ที่ต่างประเทศสนใจและยอมรับ เช่น หนังซีรีย์วาย (Y), มวยไทย, อาหารไทย เป็นต้น นอกจากนี้ควรมุ่งส่งเสริมสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างนวัตกรรมไทย ให้เกิดการใช้ในประเทศ พร้อมกับสร้างคนทำงานด้าน Digital Workforce เพิ่มมากขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่ม รายได้ต่อหัว และประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังควรลดและควบคุมผู้ให้บริการต่างชาติควบคุม ลดการผูกขาด E-Marketplace ต่างชาติที่เข้ามาในไทย ควบคุมสินค้าจีน ที่ไม่ได้มาตรฐาน และผลักดัน E-Service Tax ให้กระจายมากขึ้น ต่อยอดกับหน่วยงานอื่น รัฐ และเอกชน ทำงานร่วมกัน

แนะรัฐบาลใหม่ หนุนเทคโนโลยีไทยลดขาดดุลดิจิทัล2แสนล้าน

ดร. กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) กล่าวว่าอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ที่มองว่าไทยยังมีโอกาส เป็นผู้นำในภูมิภาค ซึ่งหวังว่ารัฐบาลใหม่ จะเข้ามาช่วยในการส่งเสริมสนับสนุน การพัฒนา OpenThaiGTP ซึ่งเป็น AI ที่พัฒนาโดยคนไทย เพื่อลดการพึ่งพาหรือ สูญเสียรายได้ของประเทศให้กับเทคโนโลยีต่างประเทศ อย่าง OpenChatGPT ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดนักพัฒนา AI หรือผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี AI ของประเทศเพิ่มขึ้น

 ด้านผศ.ดร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยหรือ “THAI STARTUP” และผู้ร่วมก่อตั้ง iTAX กล่าวว่า หวังว่ารัฐบาลใหม่ จะเห็นความสำคัญของสตาร์ทอัพมากขึ้น เพราะหลายพรรคการเมืองมีการพูดถึงนโยบายการส่งเสริมสตาร์ทอัพ สิ่งที่สมาคม THAI STARTUP พยายามเสนอไปยังรัฐบาลใหม่ คือ เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพไทย เข้าไปให้บริการกับภาครัฐ โดยโยนโจทย์มาให้สตาร์ทอัพ เป็นคนพัฒนาเป็นโซลูชันขึ้นมา ซึ่งภาครัฐมีงบประมาณอยู่แล้ว สิ่งที่สตาร์ทอัพไทยพัฒนาขึ้นมาอาจช่วยให้ภาครัฐ ประหยัดงบประมาณลงไป 2 เท่าเมื่อเทียบกับใช้ระบบจากต่างประเทศ แต่สามารถแก้ปัญหาหรือให้บริการได้ดีกว่าต่างประเทศ เพราะสตาร์ทอัพไทย มีความเข้าใจความต้องการของคนไทยมากกว่า