DGA ของบ 5.5 พันล้าน ดัน "รัฐบาลดิจิทัล" ไทยติดอันดับ 40 โลก

01 ก.พ. 2566 | 10:10 น.

กางแผนดัน "รัฐบาลดิจิทัล" ตั้งเป้าประเทศไทย ติดอันดับ 40 ของโลก ภายในระยะเวลา 4 ปี หลังจาก UN ประเมินดัชนีในปี 2565 เริ่มปรับตัวดีขึ้น พร้อมของบปี 2567 กว่า 5,523 ล้านบาท ทำ 78 โครงการ

โลกยุคใหม่กลายเป็นดิจิทัลไปเกือบทุกสรรพสิ่งแล้ว ไม่เว้นแม้แต่การบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งกำลังปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการต่าง ๆ เป็น “รัฐบาลดิจิทัล” เพื่อเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการบริการประชาชน รวมไปถึงการจัดการข้อมูลของทางภาครัฐให้ง่ายต่อการนำมาใช้มากขึ้น

ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้มีการประเมิน ดัชนีการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ E-Government Development Index (EGDI) โดยในปี 2565 ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 55 ของโลก จาก 193 ประเทศทั่วโลก หรืออันดับ 3 ของอาเซียน ส่วนดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (EPI) อยู่อันดับที่ 18 ของโลก ปรับเพิ่มขึ้นถึง 33 อันดับจากการจัดลำดับในครั้งก่อน

นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้กำหนดเป้าหมายสำคัญในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทย ด้วยการผลักดันดัชนี EGDI ให้อยู่ที่อันดับ 40 ของโลกให้ได้ภายในปี 2570

 

ภาพประกอบข่าว สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA)

ล่าสุดในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารายจ่ายงบประมาณแผนงานบูรณาการ ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบโครงการภายใต้แผนทั้งสิ้น 78 โครงการ จาก 51 หน่วยงาน รวมงบประมาณ 5,523.91 ล้านบาท ตามที่ DGA นำเสนอ 

โดยขั้นตอนต่อจากนี้ข้อมูลทั้งหมดจะจัดส่งไปยังสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ตามลำดับต่อไป ซึ่งล่าสุดสำนักงบประมาณอยู่ระหว่างพิจารณาคำของบประมาณเบื้องต้นจากหลาย ๆ หน่วยงาน

ส่วนการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ทั้งการเชื่อมโยงบริการภาครัฐกว่า 80 บริการเพื่อให้บริการประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งมียอดการใช้งานสะสมกว่า 3.8 ล้านครั้งในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนรับบริการรัฐได้ ผ่านช่องทางเดียว ง่าย จบ ครบทุกช่วงวัย 

ขณะที่ SME หรือภาคธุรกิจก็ได้รับการอำนวยความสะดวกในการติดต่อขอรับบริการจากภาครัฐกว่า 95 ใบอนุญาต ซึ่งช่วยให้การเริ่มต้นธุรกิจเป็นเรื่องง่ายขึ้น

นอกจากนี้ในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา DGA ได้เปิดตัวระบบท้องถิ่นดิจิทัล เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนในท้องถิ่นได้รวดเร็ว โดยมีเป้าหมายสนับสนุนอปท. จำนวน 400 แห่งให้ได้ในปี 2566