แม่ทัพหญิงคนแรก ‘เอชพี อิงค์’ โชว์ 3 แผน ขับเคลื่อนธุรกิจโต

27 ก.พ. 2566 | 07:01 น.

หลายปีที่ผ่านมาผู้หญิง”ที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ ความสามารถก้าวขึ้นมาผู้นำขับเคลื่อนหลายองค์กรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ แต่เป็นครั้งแรกที่ยักษ์พีซีและพรินเตอร์โลกอย่าง“เอชพี อิงค์” โปรโมตผู้หญิงขึ้นมาเป็น “กรรมการผู้จัดการ” คนใหม่นำทัพดูแลตลาดในไทย

 “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาส ร่วมสัมภาษณ์ นางสาววรานิษฐ์ อธิจรัสโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอชพี อิงค์ (ประเทศไทย) จำกัด ถึงวิสัยทัศน์ และขับเคลื่อนธุรกิจในช่วงการเปลี่ยนแปลงภายหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย

แม่ทัพหญิงคนแรก ‘เอชพี อิงค์’ โชว์ 3 แผน ขับเคลื่อนธุรกิจโต

โดยนางสาววรานิษฐ์ กล่าวว่าภารกิจที่ได้รับมอบหมาย คือการขับเคลื่อนธุรกิจของเอชพี อิงค์ ในประเทศไทยให้เติบโตขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้นำเสนอแผนการขับเคลื่อนธุรกิจระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงแผนการลงทุนที่ชัดเจนให้กับสำนักงานภูมิภาค ข้อดีของเอชพีจากประสบการณ์การทำงานที่เอชพีมา 23 ปี คือ การให้การสนับสนุนจากสำนักงานภูมิภาค ซึ่งหน้าที่ของเขาเอง คือการขยายตลาด และการดำเนินการไปแผนที่ตั้งไว้ รวมถึงการดูแลพาร์ทเนอร์แบบเท่าเทียมกัน

 

โชว์แผนขับเคลื่อนเติบโต

สำหรับแผนขับเคลื่อนธุรกิจในไทย ระยะยาว 3 ปีนั้นจะมุ่งเน้น 3 ด้านหลัก คือ 3 แกนหลักคือ 1. Product Portfolio ที่เน้นออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับความต้องการลูกค้า เอชพี ไม่ได้ขายแค่ฮาร์ดแวร์ เรามีอุปกรณ์เสริม ซอฟต์แวร์ เป็นโซลูชันที่รองรับการทำงานไฮบริดซีเคียวริตี้และงานด้านบริการต่างๆ

แม่ทัพหญิงคนแรก ‘เอชพี อิงค์’ โชว์ 3 แผน ขับเคลื่อนธุรกิจโต

2. Operation ที่เอชพีมีการทรานฟอร์มไปสู่ดิจิทัล มีการปรับปรุงระบบซัพพลายเชน ซึ่งช่วยให้พาร์ทเนอร์ลดต้นทุน และ 3. People โดยคนถือเป็นหัวใจการขับเคลื่อนธุรกิจ ให้เติบโตขึ้น ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาคนในองค์กรให้รองรับการทำงานหลากหลาย และสร้างให้เป็นองค์กรแห่ง การเรียนรู้ รวมถึงสนับสนุนการปรับตำแหน่งของคนทุกเพศสภาพ

ชี้เทรนด์ตลาดเปลี่ยนหลังโควิด

นางสาววรานิษฐ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ภายหลังโควิด ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง จากการ สำรวจของเอชพี พบว่า พฤติกรรมการใช้งานเครื่องพิมพ์ของไทยคือ นิยมซื้อเครื่องไปใช้งานกันมากขึ้น อาจเพราะช่วงโควิดในกลุ่มการศึกษา เรียนออนไลน์ ยังจำเป็นต้องใช้กระดาษ นอกจากนี้ได้เพิ่มรูปแบบการให้บริการแบบ Subscription แบบเช่าให้แก่กลุ่มเอสเอ็มบี กลุ่มบีทูบีและลูกค้าทั่วไป เพื่อผูกแพ็กเกจตามการใช้งาน ซึ่งช่วยเรื่องลดค่าใช้จ่ายในการใช้งานสำหรับธุรกิจได้ดี นอกจากนี้ยังเห็นเทรนด์ความต้องการสินค้าพรินเตอร์แบบ แทงค์ หรือ หมึกเติม มีมากขึ้นด้วย

ขณะที่ศูนย์บริการนั้นได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ โดยไม่ใช่เป็นแค่ศูนย์ซ่อมอย่างเดียว แต่เป็นศูนย์สร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าครบวงจร โดยสามารถเข้ามาใช้บริการซ่อม เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ รับบริการคำปรึกษา และยังเป็นช่องทางการสื่อสารไปถึง กลุ่มลูกค้า

สำหรับรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทยังมาจากกลุ่มเอสเอ็มบีและเอ็นเตอร์ไพร์สรวมกัน สัดส่วนอยู่ที่ 60% และลูกค้าทั่วไป 40% ซึ่งสินค้าที่ลูกค้าทั่วไปซื้อใช้งานจะมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ พรินเตอร์ เกมมิ่ง เวิร์กฟอร์ซ เป็นต้น

ยํ้าเดินหน้าลงทุนไทยต่อเนื่อง

โดยความท้าทายนั้นมองว่า การดำเนินการให้เป็นไปแผนที่ตั้งไว้นั้นถือเป็นความท้าทายสูงสุด ซึ่งจะต้องทำงานหนักขึ้นในทุกวัน เพราะมีโปรดักส์ให้ดูแลมากขึ้นจากเดิมเติบโตมาในสายผลิตภัณฑ์พรินเตอร์ แต่ตอนนี้ต้องมาดูพีซี ซึ่งต้องพยายามดึงพาร์ทเนอร์พรินเตอร์ มาขายของพีซี หรือ โซลูชันมากขึ้น และเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น

ในแง่ของการลงทุนนั้นเอชพี อิงค์ ยังให้ความสำคัญกับตลาดไทย โดยตลาดพรินเตอร์ของไทยนั้นมีขนาดใหญ่สุดในภูมิภาค ตลาดการทำงานแบบไฮบริดเป็นเทรนด์ของโลก ขณะที่ตลาดเกมไทยก็มีขนาดใหญ่ ซึ่งจะมุ่งการนำผลิตภัณฑ์กลุ่มเกมมิ่ง ไปยังกลุ่มคอนซูเมอร์ โดยมีการลงทุนแคมเปญการตลาด ให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายโดยตรง เช่นเดียวกับพรินเตอร์ที่จะมุ่งแคมเปญตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รวมถึงการทำแคมเปญร่วมกับพาร์ทเนอร์ ซึ่งเป็นภาพที่อยากให้เกิดขึ้นในปีนี้