“ไทยคม” ปี 2565 กำไรพุ่ง 527 ล้านบาท หลัง GULF ถือหุ้นใหญ่

13 ก.พ. 2566 | 08:42 น.

“ไทยคม” ปี 2565 กำไรพุ่ง 527 ล้านบาท ภายหลัง GULF เข้ามาถือหุ้น พร้อมปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจก้าวสู่ New Space พร้อมทุ่ม 1.5 หมื่นล้านสร้างดาวเทียมดวงใหม่

จากกรณีที่ บริษัท กัลฟ์ เวนเชอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด  (มหาชน) หรือ GULF ได้เข้ามาถือหุ้นสามัญใน บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)  จากบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCh จำนวนทั้งสิ้น 450,870,934 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 41.13 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ THCOM ในราคาซื้อขายหุ้นละ 9.92 บาท  รวมเป็นเงิน 4,472.64 ล้านบาท เมื่อปีที่ผ่านมานั้น

ไม่เพียงเท่านี้ ไทยคม ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจต่อยอดไปสู่ธุรกิจ New Space  เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายดาวเทียมผสมผสานกับ AI  Machine Learning  และ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องขนส่งทางน้ำ และ อากาศ เป็นต้น
 

ล่าสุด บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM แจ้งผลประกอบการปี 2565 มี กำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) ปี 2565 จำนวน 527 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 995% เมื่อเทียบกับปี 2564 จำนวน 48 ล้านบาท  พร้อมลงทุน 15,203 ล้านบาทในดาวเทียมดวงใหม่ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 อนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 548 ล้านบาท

สิ้นสุดสัมปทานรายได้พุ่ง

บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการในปี 2565 จำนวน 2,927 ล้านบาท ลดลง 11.4% จาก 3,303 ล้านบาทในปี 2564 เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการลูกค้าบรอดคาสต์ในประเทศ รวมถึงการลดลงของรายได้จากการให้บริการลูกค้าบรอดแบนด์ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนขายและการให้บริการในปี 2565 มีจำนวน 1,500 ล้านบาท ลดลง 36.1% จาก 2,349 ล้านบาทในปี 2564 จากการสิ้นสุดลงของสัมปทานดาวเทียมซึ่งทำให้ต้นทุนค่าเสื่อมราคาดาวเทียมและต้นทุนค่าสัมปทานลดลง  ดาวเทียมไทยคม

 

โดยบริษัทมีผลกำไรสุทธิในปี 2565 เป็นจำนวน 42 ล้านบาท คิดเป็นผลกำไรต่อหุ้น 0.04 บาท ลดลง 70.7% เมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิในปี 2564 จำนวน 144 ล้านบาท สาเหตุหลักจาก (1) การบันทึกการด้อยค่าของดาวเทียมเป็นจำนวน 259 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3/2565 (2) กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิจำนวน 120 ล้านบาท ลดลง 67.6% จาก 369 ล้านบาทในปี 2564 และ (3) ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทย่อยและการร่วมค้าจำนวน 306 ล้านบาท จากการอ่อนค่าของสกุลเงินกีบเมื่อเทียบกับสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ ทำให้เกิดผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการปรับปรุงมูลค่าหนี้สินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยอัตราการอ่อนค่าของสกุลเงินกีบเมื่อเทียบกับสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ มีความผันผวนขึ้นมากในปี 2565 แต่เริ่มมีแนวโน้มที่ทรงตัวขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ต่อเนื่องถึงเดือนมกราคม 2566

ทุ่ม 1.5 หมื่นล้านสร้างดาวเทียมดวงใหม่

 บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด หรือ STI ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของไทยคม ลงทุนในดาวเทียมของชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก  กรอบวงเงินการลงทุนไม่เกิน 15,203 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)  และ 120 องศาตะวันออก และ ค่าธรรมเนียมชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก จำนวนเงินประมาณ 797 ล้านบาท  และ การก่อสร้างดาวเทียมของชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออกจำนวน 3 ดวง และอื่นๆที่เกี่ยวข้องในวงเงินประมาณ 433.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 14,405 ล้านบาท

ทั้งนี้ การสร้างดาวเทียมเฉพาะของชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้ทันก่อนที่ดาวเทียมไทยคม 4 จะหมดอายุลง เพื่อให้บริษัทสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการบริษัทจึงอนุมัติให้ STI ดำเนินการลงทุนก่อสร้างดาวเทียมของชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออกก่อน  สำหรับวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก STI ต้องมีดาวเทียมเพื่อรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ภายในระยะเวลา 3 ปี ทำให้บริษัทและ STI ยังคงมีเวลาอีกระยะหนึ่งในการพิจารณาการลงทุนโครงการดาวเทียมวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก

การลงทุนในโครงการดาวเทียมในครั้งนี้ ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ทำให้การดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทมีความต่อเนื่องในการให้บริการลูกค้าสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นการรักษาฐานลูกค้าเดิมที่อยู่ภายใต้ดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออกในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนและนำมาซึ่งการสร้างมูลค่าเพิ่มและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทในระยะยาว

สถาบันการเงินพร้อมให้กู้

แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน โดยเบื้องต้นมีแผนจะเข้ารับการสนับสนุนด้านการเงินในรูปของสัญญาให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ในวงเงินประมาณ 65 – 85% ของมูลค่าการลงทุนโดยรวม สำหรับเงินทุนในส่วนที่เหลือ คาดว่าจะมาจากเงินที่ไทยคมจะเพิ่มทุนให้ STI และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ STI โดย ณ สิ้นปี 2565 ไทยคมมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด และเงินลงทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,848 ล้านบาท  ยังมีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้ใช้งาน จำนวนรวมประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการลงทุนโครงการดาวเทียม

ลาว เทเลคอมฯ มีผู้ใช้มือถือ 2.33 ล้านราย

ขณะที่ บริษัท ลาว เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด หรือ แอลทีซี ในประเทศลาว มีจำนวนผู้ใช้มือถือในระบบ ณ สิ้นปี 2565 รวมทั้งสิ้น 2.33 ล้านราย เพิ่มขึ้นจาก 2.01 ล้านราย ณ สิ้นปี 2564 และยังคงมีส่วนแบ่งในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอันดับหนึ่ง โดยแอลทีซี มีการฟื้นตัวที่ดีเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มีการเติบโตของกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นจากการเปิดตัวแบรนด์ T-PLUS และมีกำไรจากการดำเนินงานปกติอย่างต่อเนื่อง