"อนุดิษฐ์" ค้านประมูลวงโคจรดาวเทียม จี้ นายกฯ เร่งทบทวน

14 ม.ค. 2566 | 12:15 น.

"อนุดิษฐ์" ค้านประมูลวงโคจรดาวเทียม เตือน "กสทช" ให้ชะลอ  - จี้ "นายกฯ" เร่งทบทวนด่วน เผย การประมูลมีหลายวิธี

14 มกราคม 2566 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูลสิทธิการใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ในวันที่ 15 มกราคมนี้ว่า ขอให้ กสทช. ชะลอการประมูลดาวเทียมฯ ออกไปก่อน เนื่องจากตามกฎหมายการพิจารณาการให้สิทธิการใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ต้องเจาะจงว่าต้องใช้วิธีเปิดประมูลเพียงอย่างเดียว 

"ผมจะยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (ดีอีเอส) เพื่อขอให้เรียก กรรมการ กสทช. เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการดีอีเอส เพื่อให้พิจารณาทบทวน ให้ชะลอการเปิดประมูลการให้สิทธิตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมไว้ก่อน ซึ่งคณกรรมการดีอีเอสสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากอยู่ในขอบเขตของอำนาจตามกฎหมายที่ให้ดำเนินการ" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า การพิจารณาให้สิทธิใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม สามารถทำได้หลายวิธี โดยเสนอใช้วิธีการจัดสรรให้หน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว. ), กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และ กระทรวงดีอีเอส เป็นต้น โดยให้สิทธิหน่วยงานรัฐเหล่านี้เพื่อนำไปจัดสรรเพื่อใช้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงฯ หากมีสล็อตที่เหลือก็สามารถนำไปให้เอกชนไปใช้งานโดยใช้วิธีสัมปทานต่อไปได้ 

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะต้องพิจารณาเป็นลำดับแรกในการกำหนดเงื่อนไขการให้สิทธิฯ วิธีนี้จะเกิดประโยชน์กับการพัฒนาประเทศ และสร้างรายได้ให้รัฐได้ด้วย  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการ กสทช.ชุดที่ผ่านมาที่มี พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร เป็นประธานกสทช.ก็ได้เคยเปิดประมูลการใช้สิทธิตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมมาแล้วครั้งหนึ่ง และได้มีการยกเลิกการประมูลในครั้งนั้นไป เนื่องจากเห็นว่าจำเป็นต้องทบทวนหลักเกณฑ์การให้ใช้สิทธิวงโคขจรดาวเทียมเป็นวิธีอื่น แต่เหตุใด กรรมการ กสทช.ชุดนี้ เมื่อเข้ามารับตำแหน่ง ยังคงเดินทางตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ กสทช.ชุดเดิมยกเลิกไปแล้ว 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบคุณสมบัติ ประสบการณ์ และความสามารถทางด้านการเงินของผู้ขอรับอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) เพื่อเป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือก จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ทำให้ทั้ง 3 บริษัท มีสิทธิที่จะเข้าร่วมประมูลในวันที่ 15 มกราคม 2566 โดยจะมีการประมูลสาธิต (mock auction) ให้ผู้เข้าร่วมประมูลในวันที่ 14 มกราคม ที่ สำนักงาน กสทช.

สำหรับการประมูลครั้งนี้ ใช้วิธี Sequential Ascending Clock Auction โดยผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตัดสินใจตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ (20 นาที) ด้วยการเคาะซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำโดยผู้ชนะ คือ ผู้ให้ราคาสุดท้ายสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่าผู้ร่วมแข่งขันรายใดต้องการสิทธิวงโคจรชุดใดและมีความต้องการกี่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการการประมูลนั้น กสทช.จะกำหนดลำดับในวันประมูล เพื่อป้องกันการสมยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด รวมทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช.จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด