เปิดใจ “พิรงรอง” ชะตากรรมเสียงข้างน้อยบอร์ด กสทช.

26 ธ.ค. 2565 | 08:42 น.

เปิดใจ “พิรงรอง” ชะตากรรมเสียงข้างน้อยบอร์ด กสทช. ค้านสุดโต่งดีลควบรวมทรู-ดีแทค และ ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก 2022

เป็นหนึ่งในสองคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. เสียงข้างน้อยที่ลงมติคัดค้านดีลแสนล้านระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค  

 

ไม่เพียงแต่เรื่องควบรวมกิจการเท่านั้น ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ลงมติไม่เห็นด้วย นำเงิน 600 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

 

ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร กรรมการ กสทช. ให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการถึงเหตุผลที่ลงมติไม่เห็นด้วย ด้วยคะแนนเสียง 3:2 เสียง ให้ ทรู กับ ดีแทค ควบรวมกิจการระหว่างกัน ว่า ข้อมูลจากที่ปรึกษาอิสระ SCF Associates LTD ระบุชัดเจนว่าการควบรวม “ทรู” กับ “ดีแทค” ไม่มีทางเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคได้เลย อีกทั้งในต่างประเทศธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน คือ บริการเกี่ยวกับชีวิตคน ให้บริการทั่วถึงและอย่างเท่าเทียม รวมไปถึงคุณภาพให้บริการ เมื่อเทียบเคียงในต่างประเทศไม่มีประเทศไหนมีผู้ให้บริการจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย

 

“แต่ของเรา ผู้ให้บริการเหลือ 2 ราย ไม่ต้องนับ NT หรือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด มีส่วนแบ่งการตลาดแค่ 2% ขณะที่ เอไอเอส มีส่วนแบ่งตลาด 40%  ส่วน ทรู กับ ดีแทค ควบรวมกิจการแล้วส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า เอไอเอส เสียด้วยซ้ำถึงไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้”

 

ส่วนกรณีนำเงินกองทุน กทปส.จำนวน 600 ล้านบาทไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 เหตุผลที่ลงมติไม่เห็นด้วยก็เพราะนำกองทุน กทปส.ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท.ก็มีกองทุนการกีฬา แต่กลับมาใช้เงินของ กทปส.โดยอ้างเหตุผลว่าอนุมัติยาก

 

“บางทีก็รู้สึกเหงาๆ เหมือนกันที่เป็น กรรมการเสียงข้างน้อยลงไม่เห็นด้วย แต่เราไม่รู้สึกหวั่นไหวอะไรได้ลงมติไม่เห็นด้วยทั้ง 2 เรื่อง (ควบรวม ทรู กับ ดีแทค และ นำเงิน กทปส.ไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022) เพราะเรายืนยันตามหลักการและนำข้อมูลที่มีรอบด้านมาพิจารณามาวิเคราะห์เป็นอย่างดี”

 

 

พิรงรอง รามสุตร

เตรียมทบทวน "มัสต์แคร์รี่”

ศ.ดร.พิรงรอง ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปรากฏการณ์เรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 เตรียมทบทวนกฎมัสต์ แคร์รี่  ( Must Carry ) หรือ หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ที่ออกมาพร้อมกฎ มัสต์แฮฟ (Must Have) โดยบังคับให้แพลตฟอร์มบริการโทรทัศน์ทุกราย ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. นำช่องฟรีทีวี ไปออกอากาศในทุกช่องทาง ทั้งทางเสาอากาศ จานดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี และช่องทางออนไลน์ โดยต้องออกอากาศต่อเนื่องตามผังรายการของแต่ละสถานี ไม่มีจอดำเกิดขึ้นในบางรายการ  โดยไม่สามารถดัดแปลงหรือทำซ้ำได้ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถรับชมการเผยแพร่กีฬาที่สำคัญของโลกได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยจะทบทวนกฎมัสต์ แครี่ เป็นอันดับแรกเห็นควรยกเลิกไปเลยเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกฎระเบียบที่ออกมาล้าหลังไปแล้ว

 

ทวงเงิน กกท.ไม่ถึง 600 ล้าน

ส่วนค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022  สำนักงาน กสทช.ได้ส่งหนังสือไปถึง กกท. เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อทวงถามค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งค่าความเสียหายอาจไม่ถึง 600 ล้านบาท เพราะฟุตบอลโลกได้ถ่ายทอดสดไปก่อนหน้านี้แล้ว

 

เผยเหตุผลสมัครบอร์ด กสทช.

ต่อคำถามที่ว่าทำไมถึงสมัครบอร์ด กสทช. ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า ช่วงนั้น คุณพ่อ อายุ 89 ปี รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล แนะนำให้ไปสมัครไปหาความท้าทาย เพราะคุณพ่อทราบว่าสนใจ กสทช.มาตั้งแต่เริ่มต้น ช่วงที่สมัครถูกวุฒิสมาชิก ซักถามคำถามเยอะมาก แถมยังโดนโจมตีเรื่องเฟคนิวส์อีกด้วย แต่ทุกอย่างก็ผ่านมาด้วยดี

 

เปิดภารกิจปี 2566

สำหรับภารกิจในปี 2566 ศ.ดร.พิรงรอง ได้วางโรดแมป ดังนี้

  • ร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับส่งเสริมและการพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตาม มาตรา 52 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 “ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่ารายการใดเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือสมควรส่งเสริมให้มีการผลิตรายการ หรือผู้ประกอบการรายใดปฏิบัติตามมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสตามมาตรา 36 คณะกรรมการอาจพิจารณาให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”

เบื้องต้น ได้กำหนดเกณฑ์สำหรับสนับสนุนโดยให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกสำหรับรายการที่มีเนื้อหาใน 3 ลักษณะ ได้แก่

        1.รายการเพื่อเด็กและเยาวชน

        2.รายการที่ส่งเสริมความหลากหลายในมิติต่างๆ

        และ 3. รายการที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกับผู้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ

คาดว่า ร่างประกาศฯ น่าจะร่างเสร็จในไตรมาสแรก และเปิดสำหรับประชาพิจารณ์ได้ในไตรมาสที่ 2 และในช่วงกลางปีจะเปิดให้มีการสมัครขอรับทุนสนับสนุนได้

  • การวางระบบ Social Scoring, การ monitor ทางเทคโนโลยี (algorithm) Social Credit การตรวจสอบและส่งเสริมเนื้อหารายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเฝ้าระวังสิ่งผิดกฎหมายจากการออกอากาศในกิจการโทรทัศน์ (Media Alert)
  • มีการทำ Quality Rating ประเมินเนื้อหาในกิจการโทรทัศน์ด้วยเกณฑ์ทางคุณภาพ (ที่ไม่ใช่เกณฑ์ทางปริมาณผู้ชม)
  • มีทั้งการใช้ monitoring ตรวจ เฝ้าระวังเนื้อหาตามประเด็นทางสังคมทุกไตรมาสโดยคณะวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ และการพัฒนา AI ในลักษณะ machine learning เพื่อประเมินคุณภาพเนื้อหาในมิติที่เป็นความเสี่ยง เช่น ความรุนแรง เรื่องทางเพศ ภาษาที่ไม่เหมาะสม และความเสี่ยงทางสังคมอื่นๆ เช่น การสร้างความเกลียดชัง การข่มเหงรังแก (bully) การกีดกันกลุ่มทางสังคมต่างๆ เป็นต้น
  • ทั้งนี้ คาดว่าระบบการประเมินจะมีความพร้อมภายในสิ้นปี ซึ่งจะมีการให้รางวัลเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการ.