‘ควบรวมค่ายมือถือ-ถ่ายทอดบอลโลก’ เรื่องใหญ่ ‘สิทธิผู้บริโภค’ ปี65

22 ธ.ค. 2565 | 05:12 น.

‘ควบรวมค่ายมือถือ-ถ่ายทอดสดบอลโลก 2022’ เรื่องใหญ่ สิทธิผู้บริโภค ปี65 ประชาชนต้องเข้มแข็งคานอำนาจรัฐ-ทุน

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) เปิดเผยในงานงาน Year End Forum ผลสำรวจประเด็นสำคัญในรอบปี จัดโดยโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาองค์กรของผู้บริโภค สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ChangeFusion Centre for Humanitarian Dialogue (HD) และ มูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) ว่า ในปี 2565 มีเหตุการณ์สำคัญ คือการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ  TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันด้านโทรคมนาคมที่ปัจจุบันก็มีผู้ให้บริการน้อยอยู่แล้วให้เหลือแต่แบบกึ่งผูกขาด ที่ผ่านมาเข้าใจว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค พยายามทำแทบทุกวิถีทางแล้ว ทั้งการฟ้องศาล การแถลงข่าว การรณรงค์ การเรียกร้องต่อ กสทช. แต่แทบจะไม่เกิดผลใดๆ เลย ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่มากเพราะกระทบต่อเศรษฐกิจและโครงสร้างด้านโทรคมนาคม ซึ่งสุดท้ายก็จะย้อนกลับไปส่งผลกระทบยังผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เคยเป็นกรรมการใน กสทช. มาก่อน เข้าใจข้อจำกัดของ กสทช. ที่ไม่เป็นเอกภาพและถูกกำหนดทิศทางด้วยเสียงข้างมากเสมอ แต่น่าเสียใจที่มติรอบนี้ของ กสทช. เป็นมติสีเทาที่ไม่ชัดเจน จึงใช้กลไกทางศาลช่วยให้ความเป็นธรรม ซึ่งศาลแม้รับเรื่องแต่ไม่นับเป็นเรื่องฉุกเฉิน นอกจาก กสทช. แล้ว รัฐบาลก็ไม่แสดงท่าทีอะไรทั้งที่กระทบโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

 

ขณะที่ปัญหาการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 แม้พลังของสังคมจะเรียกร้องได้ระดับหนึ่งแต่ก็ทำอะไรได้ไม่มากนัก จากเงินที่ใช้จากกองทุน กทปส. ไป 600 ล้านบาทแล้วอาจยังไม่ตอบโจทย์ อีกทั้งยังพบจอดำคือไม่สามารถรับชมการแข่งขันได้ ซึ่งสิ่งที่อยากฝาก กสทช. คือควรไปสำรวจว่ามีคนไทยกี่ครัวเรือนที่ยังไม่สามารถรับชมฟรีทีวีได้ ยังมีปัญหาจอดำอยู่ เพราะจอดำไม่ใช่เพียงผู้ที่ใช้ IPTV แต่ยังรวมถึงคนที่ใช้จานดาวเทียมขนาดใหญ่ที่เข้ารหัสไม่ได้ เงิน กทปส. ควรนำมาใช้เยียวยาคนกลุ่มนี้ เช่น แจกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นการใช้เงินที่ตรงกับวัตถุประสงค์ แต่สำคัญที่สุด แม้จะเป็น IPTV เมื่อออกอากาศฟรีทีวีก็ไม่ควรจอดำแต่แรก

ส่วนคำถามที่ว่าจะหาทางออกจากปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่อย่างไร เท่าที่มีโอกาสได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ในหลายพรรคการเมือง ทั้งที่อยู่ในฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคใหม่ๆ ที่เพิ่งตั้งขึ้น พบว่ามีแนวคิดที่เปิดกว้างและก้าวหน้า สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิพลเมือง แม้รายละเอียดจะต่างกันบ้างแต่ก็ยังมีความเหมือนกันอยู่ จึงมีความหวังกับคนกลุ่มนี้ ทำอย่างไรจะทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ลุกขึ้นมาเป็นแกนหลักได้ และเป็นคานถ่วงดุลกับคนรุ่นเก่าที่อาจจะเติบโตมาในระบบอุปถัมภ์

 

อีกด้านหนึ่ง สภาองค์กรผู้บริโภค คงต้องเตรียมตัวทั้งการจัดเวที มีข้อเสนอแนะ หรือเดินสายพูดคุยกับแต่ละพรรคการเมือง เพื่อให้ฝ่ายการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การเข้าถึง ราคาที่เป็นธรรม คุณภาพ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลทางดิจิทัลไม่ให้ถูกหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งนับวันจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนจะปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับ กสทช. อย่างไรโดยมองไปยังอนาคต เมื่อตลาดและระบบนิเวศเปลี่ยน กฎหมายที่มีอยู่เดิมเพียงพอหรือไม่ในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมการแข่งขัน ส่วนภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนคงต้องช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่จากพรรคการเมือง

 

“สิ่งที่เราจะต้องสู้มากๆ เลยคือระบบอุปถัมภ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบรวมโทรคมนาคมหรือบอลโลก เราก็เห็นเลยว่ามันเป็นปัญหาเดิมของประเทศไทยที่พยายามจะปฏิรูปมาหลายปีแต่ยังไม่สำเร็จ การที่เราต้องมี กสทช. เพราะว่าเราต้องการจะปฏิรูปสิ่งที่เรียกว่าระบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ นอกจากจะปฏิรูปไม่สำเร็จเรายังมาเจอทุนนิยมอภิสิทธิ์เข้าไปอีก เรียกว่าการมีกลไกที่มีอิสระจากการเมืองอย่าง กสทช. จะช่วยได้

 

แต่ว่ามันก็อาจจะไม่ใช่เป็นคำตอบ สุดท้ายมันอาจต้องกลับมาที่พลังของพลเมือง อันนี้ก็เห็นด้วยว่าจะต้องเข้มแข็งกว่านี้อีกเยอะเลย เพื่อที่จะคานถ่วงดุลและไม่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แต่พรรคการเมืองก็ควรจะมีนโยบายสิทธิผู้บริโภค สิทธิในยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น” น.ส.สุภิญญา กล่าว.