นักวิชาการเตือน"กสทช."ควบรวมทรู-ดีแทค อย่าฝืนกฎหมายได้ไม่คุ้มเสีย!

19 ต.ค. 2565 | 10:52 น.

นักวิชาการด้านโทรคมนาคม ชี้ กสทช.ฝืนกฏหมายได้ไม่คุ้มเสีย กรณีรวมทรู-ดีแทค นักวิชาการด้านโทรคมนาคมเตือน กสทช.ต้องทำหน้าที่ตามอำนาจที่กฎหมายกำหนด หากสวนทางกฏหมาย อาจเกิดความผิด!

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี อาจารย์และนักวิชาการด้านโทรคมนาคม กล่าวถึงกรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งมีกำหนดพิจารณาลงมติในวันพรุ่งนี้ (20 ต.ค.65) โดยระบุว่า อำนาจหน้าที่ของ กสทช.ในการพิจารณาเรื่องการควบรวมที่เกิดขึ้น กสทช.มีบทบาทที่จะต้องพิจารณาในหลายมิติ ทั้งด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ค่าบริการ และการแข่งขันที่เป็นธรรม

 

โดยเมื่อพิจารณาตามกรอบกฎหมายจะพบว่ากรณีการควบรวมในลักษณะนี้ ระบุไว้ชัดเจนในประกาศ กสทช.ปี 2561 ซึ่งให้ กสทช.มีอำนาจใจการพิจารณารายงานของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ในกรณีที่มีประสงค์จะควบรวม ซึ่งรายงานนี้ยังมีการกำหนดว่าต้องทำได้ทั้งก่อนควบรวมและหลังควบรวม โดย กสทช.มีอำนาจเต็มในการออกมาตรการเสริมเพิ่มเติม ถ้าสังคมมีความกังวลเรื่องของค่าบริการ คุณภาพการให้บริการ และการดูแลลูกค้า

 

“เรื่องนี้ตามกฎหมายจะพิจารณาโดยให้มติหรือไม่อนุมัติไม่ได้ แต่ กสทช. มีอำนาจเต็มที่ในการออกประกาศเพิ่มเติมได้หากเห็นว่าสังคมมีความกังวลเรื่องค่าบริการ คุณภาพการให้บริการ และการดูแลลูกค้า เพื่อให้เกิดความสมดุลในอุตสาหกรรมและการคุ้มครองผู้บริโภค” 
 

นายสืบศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ทราบดีว่า กสทช. ต้องพิจารณาเรื่องนี้โดยรอบคอบเพราะอยู่ในความสนใจของประชาชนและผู้ใช้บริการ จึงมีการตั้งคณะทำงานและอนุกรรมการเพื่อศึกษาหลายด้าน แม้ว่าอนุกรรมการบางชุดมีผลการศึกษาที่เห็นแล้วเกิดข้อคำถาม เช่น ค่าบริการที่จะขึ้นไป 200% โดยความเป็นจริงเป็นกลไกจากการคำนวณ แต่ในชีวิตจริง หากค่าบริการขึ้นไป 200% นั่นแสดงว่าจะต้องไม่มีกสทช. อยู่ เพราะกสทช. มีกลไกที่จะกำกับและควบคุมเพดานราคา  แม้อนุกรรมการเป็นผู้ทำข้อมูล แต่ผู้ตัดสินใจก็เป็นกรรมการ และยังมีการว่าจ้างบริษัทภายนอกหรือแม้แต่สถาบันการศึกษา อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ดำเนินการศึกษา และในส่วนของอำนาจของ กสทช. นั้น  กสทช. ยังมีหนังสือไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย  เพื่อให้ได้รับความชัดเจนในการตีความกรอบอำนาจตามกฎหมาย  

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องราคา หรือผลกระทบด้านอื่นๆ หลังจากการควบรวม นายสืบศักดิ์กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ในเรื่องกลไกการกำกับกิจการโทรคมนาคม เป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้การควบคุมหลายด้าน ทั้งในด้านใบอนุญาต เรื่องคลื่น และเรื่องค่าบริการ ซึ่งกสทช. มีประกาศในการกำกับเพดานค่าบริการอยู่แล้ว ทุกวันนี้ก็ใช้อยู่ และราคายังต่ำกว่าที่กสทช. กำหนด  

 

ดังนั้นในเรื่องข้อกังวลต่างๆ กสทช. สามารถใช้ประกาศที่มีอยู่แล้วมากำกับดูแล แต่หากกังวลว่าดีลเรื่องนี้ไม่เคยมีมาก่อน และจะต้องให้ผ่านตามประกาศ กสทช. ปี 2561 ก็สามารถออกมาตรการหรือออกประกาศเสริมได้ ซึ่งกสทช.มีอำนาจเต็มที่ เพื่อให้มั่นใจว่าควบคุมราคาได้ ไม่มีการผูกขาด เป็นกลาง ไม่มีลักษณะของการเป็นผู้นำตลาดจนทำให้รายอื่นแข่งขันไม่ได้
 

"ดีลนี้เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2564 แต่กสทช.เริ่มปฎิบัติหน้าที่เดือนเมษายน 2565 ตอนนี้ผ่านมา 10 เดือน ใกล้จะครบปีเต็มที ณ วันนี้ กสทช. มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยครบถ้วนหมดแล้ว จึงเชื่อว่าถึงจุดที่ กสทช.ต้องตัดสินใจสำหรับดีลนี้แล้วว่าจะทำอย่างไร เพราะการไม่ตัดสินใจจะเกิดผลกระทบ ไม่ใช่แค่เรื่องผู้บริโภค แต่จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปสำหรับการทำงาน

 

ทั้งนี้ประชาชนกำลังจับจ้องว่า กสทช. ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ความรู้ความสามารถหรือยัง ประเด็นจึงอยู่ที่ กสทช. ต้องทำหน้าที่ของตนเอง  แต่หาก กสทช. มีเหตุผลว่าจะยังรอการพิจารณา ก็ต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้จริงๆ รวมถึงการนำข้อมูลเข้าก็ต้องเป็นมติของกรรมการด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะประวิงเวลาได้หมด เชื่อว่าการตัดสินใจของ กสทช. เป็นความสง่างามแน่นอน การลงมติไม่ได้ต้องเป็นเอกฉันท์ทั้งหมด แต่ละท่านมีเอกสิทธิ์ในการโหวตและสามารถชี้แจงเหตุผลของการตัดสินใจได้"

 

ส่วนประเด็นจำนวนคณะกรรมการกสทช.ที่มีปัจจุบันมีเพียง 5 นายสืบศักดิ์มองว่า ตั้งแต่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา  มี 5 ท่านก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ มีหลายเรื่องที่ดำเนินการ มีมติ และเรื่องนี้ก็เช่นกัน ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ว่าทำอะไรได้หรือทำไม่ได้ กสทช. ต้องตัดสินใจ และการตัดสินใจก็อยู่ในวาระ และข้อมูลก็มีครบแล้ว กรรมการหลายท่านรู้งานอยู่แล้ว เพราะบางท่านเคยปฏิบัติงานอยู่ใน กสทช. บางท่านเป็นนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่ละท่านก็มาจากหลายสาขา  ซึ่งการสรรหากรรมการ กสทช. จากหลากหลายสาขา ก็เพื่อให้ใช้ความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย ด้านวิชาการ หรือด้านมุมมองสังคม เพื่อมาตัดสินใจในเรื่องต่างๆ อีกหลายเรื่องในธุรกิจโทรคมนาคม จึงอยากให้สมดุลทั้งด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมและการคุ้มครองผู้บริโภคต้องไปได้ แต่จะหยุดชะงักไม่ได้ ขอให้ท่าน กสทช. มั่นใจว่าท่านปฏิบัติตามกรอบ ตามอำนาจหน้าที่ ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร เชื่อว่าถ้าท่านมีเหตุผลที่ดี  สังคมสามารถรับฟังได้