เงินลงทุนสตาร์ทอัพสายเกษตรพุ่ง 1.2 พันล้าน NIA รุกระดมทุน7 ดีพเทค

12 ต.ค. 2565 | 10:08 น.

เอ็นไอเอ รุกระดมทุน 7 ดีพเทคสตาร์ทอัพสายเกษตร พร้อมส่งนวัตกรรมพลิกโฉม ธุรกิจเกษตรไทยเทียบชั้นโกลบอล ชี้ปี 65 เงินลงทุนสตาร์ทอัพสายเกษตรพุ่ง 1.2 พันล้าน

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเกษตรไทยผ่านโครงการ “Inno4Farmers 2022” เป็นปีที่ 3 โดยมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้พัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ภาคการเกษตรอย่างตรงจุด และสามารถขยายฐานธุรกิจเพื่อเติบโตได้ไปพร้อมกัน

เงินลงทุนสตาร์ทอัพสายเกษตรพุ่ง 1.2 พันล้าน NIA รุกระดมทุน7 ดีพเทค

สำหรับปีนี้มีสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการจำนวน 7 ทีม ซึ่งแต่ละทีมมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยี มีโอกาสนำเสนอแนวคิด/โซลูชั่นและร่วมทำงานจริงกับองค์กรพันธมิตรภาคการเกษตรชั้นนำของประเทศ พร้อมโอกาสการเชื่อมโยงกับภาครัฐ เอกชน และนักลงทุนในการต่อยอดธุรกิจผ่านเวทีนำเสนอผลงานและแผนธุรกิจต่อนักลงทุนและผู้ที่สนใจนวัตกรรมด้านการเกษตร โดยสตาร์ทอัพผู้ชนะได้รับรางวัล The Best Performance Inno4Famers 2022 Award (ตัดสินจากคณะกรรมการ) และรางวัล The Popular Inno4Farmers 2022 Award (ตัดสินจากผลการโหวตของผู้เข้าร่วมงาน) ได้แก่ ทีม UniFAHS

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “Inno4Farmers 2022” มีเป้าหมายในการยกระดับภาคการเกษตรไทยด้วยการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาให้กับภาคเกษตรได้ โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสการขยายตลาด ฐานลูกค้า และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากภาพรวมการลงทุนในสตาร์ทอัพด้านการเกษตรทั่วโลกปี 2564 มีมูลค่าการลงทุน 3.7 แสนล้านบาท โดยมีตัวอย่างสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นจำนวน 2 ราย ที่ได้นำเทคโนโลยีเชิงลึกมาแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนของภาคเกษตร และสามารถดึงดูดการลงทุนได้ด้วยมูลค่าสูงขึ้นอย่างมาก ได้แก่ อินารี่ (Inari) ได้นำเทคโนโลยีชีวภาพมาปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ และโบวิรี่ (Bowery) เป็นการวิเคราะห์ภาพถ่ายร่วมกับใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมโรงเรือนปลูกพืชที่เป็นระบบอัตโนมัติ

เงินลงทุนสตาร์ทอัพสายเกษตรพุ่ง 1.2 พันล้าน NIA รุกระดมทุน7 ดีพเทค

สำหรับประเทศไทยปี 2565 เงินลงทุนในสตาร์ทอัพด้านการเกษตรมีมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท ซึ่งพบว่านักลงทุนเริ่มเห็นความสำคัญของการลงทุนในสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกเพิ่มขึ้น โดยมีตัวอย่างนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ เช่น  “รีคัลท์” ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ Machine Learning มาช่วยประมวลผลให้เกษตรกรมีข้อมูลในการตัดสินใจ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเพาะปลูก และ “ไบโอม” ที่นำผลงานวิจัยด้านเอนไซม์พิเศษและชีววิทยาสังเคราะห์มาผลิตสารช่วยยืดอายุผักและผลไม้ และผลิตภัณฑ์เอนไซม์ล้างผักและผลไม้ที่มีคุณสมบัติทำลายโครงสร้างทางเคมีของสารพิษฆ่าแมลงที่ตกค้างในผักและผลไม้”

 

Inno4Farmers ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกว่า 20 หน่วยงานในการระดมสมองเพื่อเข้าถึงปัญหาเชิงลึกของอุตสาหกรรมและสรรหาสตาร์ทอัพที่ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศและของโลก ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในภาคเกษตรตั้งแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย ภาครัฐ และนักลงทุนทั้ง VC และ CVC

เงินลงทุนสตาร์ทอัพสายเกษตรพุ่ง 1.2 พันล้าน NIA รุกระดมทุน7 ดีพเทค

โดยสตาร์ทอัพทั้ง 7 รายที่ได้รับการคัดเลือกนี้ เป็นทีมที่มีเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือโซลูชั่นที่โดดเด่น และสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้กับภาคการเกษตรได้อย่างแท้จริงทั้งระดับประเทศและอุตสาหกรรมการเกษตรระดับโลก จึงถือเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพด้านเกษตรของไทยที่จะก้าวสู่ระดับนานาชาติ เช่น อีซี่ไรซ์ (Easy Rice) ได้รับโอกาสนำระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ตรวจสอบคุณภาพข้าวและพันธุ์ข้าวไปทำงานร่วมกับข้าวหงษ์ทองและข้าวไก่แจ้ โดยได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาในการวางแนวทางขยายการใช้งานที่ชัดเจนในวงกว้างขึ้น และพร้อมขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่น เช่น กลุ่มธุรกิจธัญพืชในยุโรป โดยได้ขยายธุรกิจไปสู่สหราชอาณาจักรและได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 12 ผู้เข้าร่วมโครงการ AI Accelerator ของมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ (The University of Edinburgh)” ดร. พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย

 

ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวเพิ่มเติมว่า สตาร์ทอัพที่ทั้ง 7 ทีมของโครงการ Inno4Farmer 2022 ประกอบด้วย 1) Aqua Innovac นาโนวัคซีนสำหรับฟาร์มสัตว์น้ำเพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดและเพิ่มผลผลิต 2) ZeroLoss ระบบบริหารจัดการน้ำและชลประทานเพื่อการเกษตร 3) UniFAHS ผลิตภัณฑ์สารเสริมชีวภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตโดยลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดในฟาร์มสัตว์ปีก 4) Egg E Egg ระบบอัตโนมัติที่ใช้ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกไข่ไก่ในฟาร์มขนาดใหญ่ 5) Maxflow ระบบปรับโมเลกุลน้ำด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดการใช้น้ำและปุ๋ย 6) AgriGen ระบบ AI ในการบริหารคุณภาพน้ำนมเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับฟาร์มโคนม 7) Intscent ระบบ E-Nose เพื่อคัดแยกคุณภาพเมล็ดกาแฟและสร้างตลาดให้กับผู้ผลิตและผู้ขายเมล็ดกาแฟ

เงินลงทุนสตาร์ทอัพสายเกษตรพุ่ง 1.2 พันล้าน NIA รุกระดมทุน7 ดีพเทค

ซึ่งแต่ละโครงการอยู่ในระยะเริ่มต้นที่มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบพร้อมนำไปใช้งานและต่อยอดธุรกิจ รวมถึงการนำโซลูชั่นไปพิสูจน์ทดลองการใช้งานจริงเพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น กรมชลประทาน บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มานิตย์เจเนติกส์ จำกัด บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้ง 7 ทีมสามารถนำไปต่อยอดแก้ปัญหาการเพิ่มผลผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพในการเกษตรได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคเกษตรแล้ว ยังกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของระบบนิเวศและทำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจด้านเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก โดยคาดว่าสตาร์ทอัพในโครงการฯ จะสามารถระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท”

เงินลงทุนสตาร์ทอัพสายเกษตรพุ่ง 1.2 พันล้าน NIA รุกระดมทุน7 ดีพเทค

Inno4Famers เป็นการพัฒนาและเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตรผ่านการยกระดับความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางการเกษตรด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ตลอดห่วงโซ่มูลค่าทางการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย และการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน -เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ของรัฐบาล” ดร.กริชผกา กล่าวสรุป