สตาร์ทอัพภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคกลายเป็นยูนิคอร์นยักษ์ใหญ่ในอนาคต

25 ก.ค. 2565 | 11:22 น.

KPMG และ HSBC ออกรายงานเกี่ยวกับบริษัทสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในอนาคต และได้ระบุเหล่าบริษัทที่มีโอกาสเป็นยูนิคอร์น รวมถึงปัจจัยเร่งการเติบโตขององค์กรเหล่านี้

KPMG และ HSBC ได้ออกรายงานชื่อ Emerging Giants in Asia Pacific ซึ่งเป็นการศึกษาธุรกิจในเศรษฐกิจกระแสใหม่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีอิทธิพลต่อแวดวงธุรกิจโลกในทศวรรษข้างหน้า ได้มีการสำรวจสตาร์ทอัพที่เน้นการใช้เทคโนโลยีกว่า 6,472 บริษัท และประเมินมูลค่าได้กว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ใน 12 ตลาด รวมถึงประเทศไทยด้วย และในแต่ละตลาดได้มีการบ่งชี้ 10 บริษัทที่จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในอนาคต (Emerging Giants) 

 

นอกจากนี้รายงานฉบับนี้ยังจัดลำดับ Emerging Giants 100 แห่งที่มีแนวโน้มดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคอีกด้วย

สตาร์ทอัพภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคกลายเป็นยูนิคอร์นยักษ์ใหญ่ในอนาคต

ระบบนิเวศน์ทางธุรกิจที่มีการเจริญเติบโตเต็มที่ด้านเทคโนโลยีในเอเชียแปซิฟิคเป็นแหล่งบ่มฟักธุรกิจมูลค่าหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐได้อย่างรวดเร็วและมากมาย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) คาดการณ์ว่าระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) และเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาจะมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงร้อยละ 20  โดยที่ในปีนี้เหล่า Emerging Giants หรือสตาร์ทอัพที่มีอิทธิพลและมีเป้าหมายที่จะเป็นยูนิคอร์น เป็นข้อชี้วัดที่ชัดเจนถึงอัตราการเจริญเติบโตที่ก้าวกระโดดของภูมิภาคนี้

จากรายงานฉบับนี้พบว่าการที่มีช่องทางการตลาดแบบแนวดิ่ง (Sector verticals) เพิ่มมากขึ้นนั้น ทำให้สามารถดึงดูดยอดเงินลงทุนที่สูงเป็นประวัติการณ์ ก่อให้เกิดสตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่ขนาดใหญ่ขึ้น และมีมูลค่าสูงขึ้นในภูมิภาคนี้

 

นอกเหนือจากภาคธุรกิจที่รู้จักกันอยู่เดิมในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่เช่น ฟินเทค หรือการให้บริการในด้านซอฟต์แวร์ (Software-as-a-service) รายงานฉบับนี้ยังบ่งชี้อุตสาหกรรมย่อยที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีอีก 120 ชนิด ซึ่งรวมถึงชนิดที่เด่นๆ เช่น บล็อกเชน สมาร์ทซิตี้ ความยั่งยืน และ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance – ESG) นอกจากนี้ตลาดที่ถูกสำรวจ 6 ใน 12 แห่งนั้นมีการประเมินมูลค่ารวมของเหล่า Emerging Giants เฉลี่ยอยู่ที่ 300 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือมากกว่า

 

“เหล่าสตาร์ทอัพทางด้านเทคโนโลยีถือเป็น SMEs กระแสใหม่ที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในอนาคตการที่ทั่วโลกต่างมุ่งสู่เน็ตซีโร่จะเป็นแรงผลักดันหลักในการสร้างนวัตกรรมให้อุตสาหกรรมดั้งเดิมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น Emerging Giants จะเป็นผู้เล่นหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และส่งเสริมให้องค์กรมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ทวีปเอเชียจะเป็นแนวรบสำคัญที่จะต่อสู้เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของทุกคน” ฮอนสัน โต ประธานเคพีเอ็มจี เอเชีย แปซิฟิค และเคพีเอ็มจีประเทศจีน กล่าว

“เราตื่นเต้นกับรายงาน Emerging Giants in Asia ฉบับนี้ เพราะเรามองว่าสตาร์ทอัพเป็นอีกแรงหนุนสำหรับอุตสาหกรรมการเงินดั้งเดิม องค์กรพวกนี้เป็นแหล่งนวัตกรรม และเป็นสิ่งเร้าและเพิ่มความหลากหลายให้กับเศรษฐกิจของแต่ละตลาดและของภูมิภาค” สุเร็นดรา โรชา Co-Chief Executive ของ HSBC เอเชียแปซิฟิค กล่าว

 

สำหรับประเทศไทยนั้น ปี 2564 ถือเป็นปีทองของสตาร์ทอัพ สืบเนื่องจากการที่มีสตาร์ทอัพกลายเป็นยูนิคอร์นเป็นครั้งแรกของประเทศ และมีถึง 3 บริษัทด้วยกัน คือ 1) Flash Group ซึ่งเป็นบริษัทโลจิสติกส์ขนส่งในภูมิภาค 2) Ascend Money ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินดิจิทัล 3) Bitkub ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี

ศศิธร พงศ์อดิศักดิ์ กรรมการบริหาร และหัวหน้าแผนไพรเวท เอ็นเตอร์ไพรซ์ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว

“เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ การที่ผู้บริโภคหันเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ถือเป็นการกระตุ้นธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยที่ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ บริษัทที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบดิลิทัล ต่างได้ประโยชน์กันทั้งนั้น” ศศิธร พงศ์อดิศักดิ์ กรรมการบริหาร และหัวหน้าแผนไพรเวท เอ็นเตอร์ไพรซ์ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว

 

อีกปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเติบโตเร็วในประเทศไทยคือลักษณะประชากร ประชากรประมาณร้อยละ 30 อายุต่ำกว่า 25 ปี และนอกจากนี้ยังมีอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือสูงถึง 165.7 เครื่องต่อจำนวนประชากร 100 คน ประเทศไทยยังมีความเคลื่อนไหวชัดเจนในภาคธุรกิจใหม่ๆ อีกด้วย เช่นในภาคอุตสาหกรรมประกันภัยนั้นมีบริษัท Sunday ซึ่งทำธุรกิจประเภท InsurTech ได้รับเงินลงทุน 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัท Tencent ในประเทศจีนและบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมภาคอาหารนั้นบริษัท SPACE-F Thailand ได้ก่อตั้งองค์กรเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพในภาคอุตสาหกรรม Foodtech เป็นต้น

 

ประเด็นสำคัญอื่นจากงานวิจัยครั้งนี้:

 

•             ถึงแม้ว่ายอดการลงทุนจากภาคเอกชนในปี 2565 นั้นไม่น่าจะทำลายสถิติเหมือนในปี 2564 แต่ว่ายอดเงินลงทุนรวมในไตรมาสแรกของ 2565 นั้นชี้ให้เห็นแนวโน้มว่ายอดการระดมทุนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคในปีนี้น่าจะสูงกว่าปี 2563 และ 2562 ในออสเตรเลีย มาเลเซีย และเกาหลีใต้ นั้นมีการลงทุนที่สูงกว่า หรือเกือบสูงกว่ายอดทั้งหมดของปี 2563 แล้ว

•             ในฐานะที่มีผู้ใช้ฟินเทคเยอะที่สุดนั้น ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการให้บริการด้านการเงินเป็นอย่างมากในสองปีที่ผ่านมา เนื่องจากแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการด้านการเงินออนไลน์นั้นได้พัฒนาไปพร้อมๆ กับการที่จำนวนผู้ใช้เพิ่มสูงขึ้น ความสนใจอย่างมากในคริปโตเคอร์เรนซีของผู้บริโภคก็ยังทำให้จำนวนผู้ให้บริการเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีและบล็อกเชนนั้นมีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

•             ความคาดหวังให้ธุรกิจและกลยุทธ์การลงทุนมีการจัดการด้าน ESG ที่ดีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนั้นน่าจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีและการบริการสีเขียวในทุกภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเหล่า Emerging Giants ทั้งหลาย

•             ความท้าทายลำดับต้นๆ ที่เหล่า Emerging Giants ต้องพบเจอนั้น รวมไปถึงการเข้าใจความซับซ้อนของกฎหมายข้อบังคับต่างๆ และการดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี การกำหนดกลยุทธ์ด้าน ESG และภาษีที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของภาครัฐ และการวางกระบวนการจัดการบุคลากร จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตขององค์กรในอนาคต

 

“ในฐานะธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของโลก เราคิดหาแนวทางที่จะช่วยให้ลูกค้าของเราสร้างสรรค์ และพัฒนาโซลูชั่นสำหรับอนาคตและเพิ่มมูลค่าให้แก่ลูกค้าเสมอ เหล่า Emerging Giants ในฐานะที่เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่จะกำหนดทิศทางของแต่ละอุตสาหกรรมในอีก 10 ปีข้างหน้า เป็นรากฐานสำคัญสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนและเฟื่องฟูของภูมิภาคนี้” แดน โรเบิร์ตส์ Global Head of Business Banking ของ HSBC กล่าว

 

“แพลตฟอร์มและซอฟ์ตแวร์แอปพลิเคชันที่มาจากกลุ่ม Emerging Giants ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคนั้นมีแตกต่าง ทะเยอทะยาน และล้ำสมัย สตาร์ทอัพเหล่านี้กล้าที่จะเลือกพันธมิตรทางธุรกิจ กล้าที่จะเลือกเป้าหมายทางตลาดที่ชัดเจน และกำหนดทิศทางของธุรกิจ รวมถึงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและพันธกิจขององค์กร สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ นอกจากพวกเขาพยายามจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแล้ว พวกเขายังคิดที่จะเปลี่ยนแปลงและกำหนดทิศทางอนาคตของการพัฒนาทางเทคโนโลยีอีกด้วย” แดเร็น ยอง หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี มีเดีย และโทรคมนาคม เคพีเอ็มจี เอเชียแปซิฟิค กล่าว

 

รายงานฉบับนี้มีการสัมภาษณ์ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทสตาร์ทอัพในเอเชียแปซิฟิคทั้ง 12 ตลาด ซึ่งสามารถบ่งชี้ข้อมูลเชิงลึกด้านโอกาสและสิ่งท้าทายที่เหล่าสตาร์ทอัพต้องเผชิญในภูมิภาคนี้