ส่องนวัตกรรม“เครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow” เครื่องแรกฝีมือคนไทย

03 ส.ค. 2564 | 10:18 น.
อัพเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2564 | 17:26 น.

ต่อลมหายใจ! ส่องนวัตกรรม “เครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow” เครื่องแรกโดยคนไทย! ที่มาพร้อม 3 ฟังก์ชันหลัก เน้นพยุงอาการผู้ป่วย - ลดภาระงานของทีมแพทย์

ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์ COVID-19 ขณะนี้ บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า รวมถึงผู้ป่วยโควิดหรือผู้ที่มีภาวการณ์หายใจบกพร่อง เป็นกลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะจากจำนวนของผู้ติดเชื้อสะสม โดยเฉพาะระดับอาการสีเหลืองที่เพิ่มต่อเนื่อง และมีความต้องการใช้ “เครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow” จำนวนมาก เพื่อพยุงอาการก่อนถึงขั้นวิกฤตในระดับสีแดง อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกันนานหลายชั่วโมง อาจจะมีอาการเหนื่อยล้าสะสม หรือเป็นลมได้ในที่สุด ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ หลากหลายหน่วยงานต่างระดมองค์ความรู้ในการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้เราสามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันโดยเร็วที่สุด “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง” (สจล.) หนึ่งในหน่วยงานที่ได้ร่วมพัฒนา “เครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow” ภายใต้การขมวดรวมองค์ความรู้ด้านการแพทย์และวิศวกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลที่มีความจำเป็นเร่งด่วน นำร่องโรงพยาบาลที่ขอรับบริจาคเข้ามาเบื้องต้นกว่า 30 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ กรุงเทพฯ โรงพยาบาลชัยบาดาล จ.ลพบุรี โรงพยาบาลโพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด โรงพยาบาลตรัง จ.ตรัง ภายในเดือนสิงหาคม 2564

            

ซึ่งเครื่องดังกล่าวจะมาพร้อมความพิเศษใน 3 ฟังก์ชันดังนี้

•             ระบบเซนเซอร์ (Sensor) ควบคุมการไหลของออกซิเจนคงที่ เพื่อลดการเดินเข้า-ออกบริเวณหอผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัยจึงติดตั้งเซนเซอร์วัดอัตราการไหล ควบคุมวาล์วจ่ายออกซิเจนให้อัตราออกซิเจนคงที่เป็นไปตามการรักษา โดยสามารถปรับเปอร์เซ็นต์ของออกซิเจนได้ตั้งแต่ช่วง 21-100% อย่างไรก็ตาม  ออกซิเจนที่ปล่อยสู่ผู้ป่วยจะถูกนำมาผสมกับอากาศสะอาด (ออกซิเจน 21%) ในความเข้มข้นที่ต้องการในห้องผสมอากาศ (Air Tank) พร้อมทั้งผ่านแผ่นกรองอากาศ HEPA Filter

•             ระบบแจ้งเตือน (Alert) ทุกความเคลื่อนไหว ในอดีตทีมแพทย์ต้องเฝ้าดูและติดตามอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทั้งด้วยข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ จึงอาจจะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ส่วนอื่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นักวิจัยจึงได้ติดตั้งฟังก์ชันการแจ้งเตือนในรูปแบบ ‘เสียง’ เพิ่มเติม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะออกซิเจนต่ำเกินไป

•             ระบบมอนิเตอร์ (Monitor) ได้ระยะไกล เพราะสุขภาพของทั้งบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยเป็นเรื่องอ่อนไหว ดังนั้น นักวิจัยจึงออกแบบให้เหมาะกับ Social Distance ลดเลี่ยงการสัมผัสระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ผ่านการมอนิเตอร์และควบคุมปริมาณออกซิเจน อัตราการไหลของอากาศ อุณหภูมิและตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยทางไกลด้วยแอปพลิเคชัน ซึ่งมีส่วนช่วยลดอัตราผู้เสียชีวิตให้น้อยลงได้ในอนาคต

 ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับแผนการผลิตเพื่อแจกจ่ายนั้น สถาบันจะเริ่มดำเนินการในเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นการผลิตโดยโรงงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 13485 มีผลบังคับใช้กับทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และองค์กรต่าง ๆ ที่สนับสนุนผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ “ทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการ “ให้เพื่อต่อลมหายใจ” ได้ ผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี “มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ เพื่อสู้ภัยโควิด” เลขที่บัญชี 693-0-35455-4 โดยผู้บริจาคสามารถนําใบเสร็จไปขอลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) โทร. 086-825-5420, 085-382-0960 @kmitlfightcovid19”