บลูบิคแตกไลน์สตาร์ตอัพ ‘บลู พาร์คกิ้ง’ บริหารที่จอดรถอัจฉริยะ

08 ต.ค. 2562 | 23:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

บลูบิค กรุ๊ป แตกไลน์ธุรกิจสตาร์ตอัพ เปิดตัว “บลู พาร์คกิ้ง” นวัตกรรมระบบบริหารที่จอดรถอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยี IoT หวังเปลี่ยนแปลงประสบการณ์จอดรถ เปิดให้บริการแล้ว 10 จุด ตั้งเป้าปี 63 ติดตั้งเพิ่มเป็น 100 จุด

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี เปิดเผยว่าบริษัทได้แตกไลน์ธุรกิจมาเป็นสตาร์ตอัพ ในนาม “บลู พาร์คกิ้ง” เพื่อเปิดตัวนวัตกรรมระบบบริหารที่จอดรถอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยี IoT ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงประสบการณ์การจอดรถของลูกค้าไปอย่างสิ้นเชิงด้วยจุดเด่น คือ 1. การใช้ระบบ ALPR (Auto license plate recognition) ที่สามารถอ่านป้ายทะเบียนรถที่เข้าออกที่จอดรถได้อย่างแม่นยำ และเชื่อมต่อกับไม้กั้นที่เปิดปิดแบบอัตโนมัติ ทำให้การจัดการสมาชิกผู้ใช้งานประจำเป็นไปอย่างสะดวกสบายโดยไม่ต้องใช้บัตรในการผ่านเข้าออกอีกต่อไป

2. เจ้าของธุรกิจ สามารถควบคุมจัดการฟังก์ชันต่างๆ ของการให้บริการที่จอดรถได้ ไม่ว่าจะเป็น เวลาเปิดปิด การจัดการทะเบียนสมาชิก โดยควบคุมการทำงานแบบเรียลไทม์, 3. ฟีเจอร์ (Feature) จองที่จอดรถล่วงหน้าก่อนเข้าใช้บริการ, 4. บริการ API Service เพื่อให้เจ้าของธุรกิจสามารถเชื่อมต่อระบบการจองที่จอดรถเข้ากับแพลตฟอร์มของแบรนด์ เช่น โมบายแอพพลิเคชันหรือ ไลน์บิสิเนสคอนเน็กต์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด ในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าออนไลน์ได้มากขึ้น, 5. รองรับการชำระค่าบริการแบบไร้เงินสด เช่น QR Code บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต

บลูบิคแตกไลน์สตาร์ตอัพ  ‘บลู พาร์คกิ้ง’ บริหารที่จอดรถอัจฉริยะ

6. ระบบ E-Coupon ให้ส่วนลดที่จอดรถสำหรับผู้ที่มาติดต่อบริษัทต่าง ๆ ในอาคารสำนักงาน สามารถทำงานได้เหมือนระบบ E-Stamp ทุกประการ ประหยัดโดยที่ไม่ต้องลงทุนกับฮาร์ดแวร์ในตัวอาคาร และ 7. สามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้บริการของลูกค้าที่ถูกจัดเก็บไว้บนคลาวด์ เพื่อนำไปวิเคราะห์หารูปแบบพฤติกรรมการเข้ามาใช้บริการต่างๆ เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บลู พาร์คกิ้ง ได้เปิดให้บริการระบบบริหารที่จอดรถ และระบบจองที่จอดรถของอาคารสำนักงาน และศูนย์การค้าชั้นนำในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวนกว่า 10 แห่ง และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 แห่งภายในปี 2563 โดยมีเป้าหมายขยายไปในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน คอมมิวนิตีมอลล์ โรงแรม โรงพยาบาล ลานจอดรถใกล้สถานีรถไฟฟ้า เนื่องจากการจอดรถนับเป็นหนึ่งทัชพอยต์ที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับธุรกิจศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน หรือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์คอนโดมิเนียม โดยช่วยอำนวยความสะดวก ความรวดเร็วให้กับลูกค้า ลูกบ้าน หรือพนักงานออฟฟิศบวกกับลดกระบวนการแมนวลได้มากถึง 40%

 

จากสถิติพบว่ากว่า 70% ของผู้บริโภคยินดีที่จะกลับมาใช้บริการสถานที่ที่มีที่จอดรถที่สะดวกสบายและเพียงพอ และ 55% จะไม่กลับมาใช้บริการอีก หากได้รับประสบการณ์การจอดรถที่ไม่ดีพอ ตอกยํ้าให้เห็นว่าที่จอดรถกลายเป็นทัชพอยต์สำคัญในการกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีก

นายพชร กล่าวต่อไปว่าบริษัทมีเป้าหมายสร้างจุดแข็งและความแตกต่างในธุรกิจบริษัทที่ปรึกษา ด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับดิจิทัล สามารถนำเอานวัตกรรม เทคโนโลยี รวมถึงแนวคิดใหม่ที่ใช้ในระดับสากล มาใช้ยกระดับธุรกิจของลูกค้าให้สามารถแข่งขันในโลกดิจิทัลได้ โดยการมีองค์ความรู้ที่ลึกซึ้ง และมีความเข้าใจที่เหนือกว่าสู่บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการภายในปี 2563 ด้วยการเข้าไปลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพที่เป็น Deep Technology หรือบริษัทสตาร์ตอัพที่มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความลึกซึ้ง ซับซ้อนมาใช้ 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3510 ระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคม 2562