เปิดวิสัยทัศน์ "สวัสดิ์ อัศดารณ" แม่ทัพไอบีเอ็มคนใหม่

23 มี.ค. 2565 | 08:16 น.

สัมภาษณ์ แม่ทัพคนใหม่ “สวัสดิ์ อัศดารณ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ยักษ์สีฟ้า “ไอบีเอ็ม” บริษัทไอทีรายใหญ่ระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจในไทยมาเป็นเวลา 70 ปี ประกาศตัวเองก้าวข้ามอุตสาหกรรมไปยังเทคคอมพานี

ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ แม่ทัพคนใหม่ “สวัสดิ์ อัศดารณ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนไอบีเอ็มไปสู่ความยั่งยืน 

 

โดยนายสวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคธุรกิจเร่ง ปรับธุรกิจ หรือ ทรานสฟอร์ม ไปสู่ดิจิทัลเร็วขึ้น เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยน แปลงไป

 

ซึ่งมองว่าการที่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ประกาศปรับตัวไปสู่เทคคอมพานีนั้นสร้างให้เกิดประโยชน์กับประเทศ เพราะปริมาณงานทรานฟอร์มไปสู่ดิจิทัลมีเป็นจำนวนมาก ไอบีเอ็ม เจ้าเดียวทำ ไม่ทัน โครงการที่อยู่ในมือในระยะ 3-5 ปีข้างหน้ามีเป็นจำนวนมาก ซึ่งไอบีเอ็มคงมุ่งเป็นพันธมิตรกับบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ โดยมองเป็นอีโคซิสเต็ม

 

“ความเป็นผู้นำวันนี้ไม่เหมือนในอดีตที่เติบโตอย่างเดียวดาย แต่ต้องอาศัยการจับมือกันร่วมกัน เพื่อสร้างให้เกิดอีโคซิสเต็มขึ้นมา แล้วเติบโตไปด้วยกัน”

เปิดวิสัยทัศน์ \"สวัสดิ์ อัศดารณ\" แม่ทัพไอบีเอ็มคนใหม่
 

โดยจุดแข็งของไอบีเอ็ม โกลบอล คอมพานี สามารถเข้าไปให้บริการองค์กร ตั้งแต่ส่วนงานหน้า (Font End) ที่ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า ระบบงานส่วนหลัง (Back End) ระบบไฮบริดคลาวด์ ระบบรักษาความปลอดภัย ไปถึงบริการลิสซิ่ง ภายใต้ไอบีเอ็ม โกลบอล ลิสซิ่ง

 

นายสวัสดิ์ กล่าวต่อไปว่า ไอบีเอ็มอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลา 70 ปี ซึ่งภายใต้การบริหารงานของตัวเอง ต้องการขับเคลื่อนไอบีเอ็มให้เติบโตต่อไปข้างหน้าแบบยั่งยืนในประเทศไทย โดยไอบีเอ็มอยู่ในบทบาทผู้นำทางเทคโนโลยี และการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับภาครัฐและภาคธุรกิจ เป้าหมายการขับเคลื่อนไอบีเอ็ม ประเทศไทย และการสนับสนุนองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคการศึกษาของไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ The  New Era of Sustainable Business Underpinned by AI & Hybrid Cloud

ซึ่งจะมีการมุ่งเน้นในมิติหลักๆ 3 ประการ คือ 1. การสร้างความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรอย่างยั่งยืน (Sustainable Partner ship) ตลอดระยะเวลาการดำเนินการ 70 ปีในประเทศไทย สิ่งที่ไอบีเอ็มมุ่งมั่นตลอดมาคือการยึดความสำเร็จของลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจเป็นเป้าหมายสำคัญ ดังตัวอย่างความร่วมมือและการนำเทคโนโลยีเข้าสนับสนุนระบบและโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ เป้าหมายต่อจากนี้ไปคือการเข้าไปมีร่วมช่วยลูกค้าและพันธมิตรวางโร้ดแม็ปเทคโนโลยีและธุรกิจ เพื่อพัฒนาระบบและเทคโนโลยีที่จะรองรับการเติบโตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในยุคของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบไอที และการเปลี่ยนผ่านสู่โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่การสร้างแพลตฟอร์มการให้บริการลูกค้าจะทวีความสำคัญ

 

2. การนำเทคโนโลยีเข้าช่วยสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน (Techno logy for Sustainable Business) การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงดิสรัปชันที่สร้างความเปลี่ยน แปลงต่อพฤติกรรมผู้บริโภค โมเดลการทำธุรกิจ ระบบซัพพลายเชน ฯลฯ ส่งผลให้องค์กรธุรกิจต้อง ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในกุญแจสำคัญด้านเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล คือเทคโนโลยีก้าวลํ้าอย่างไฮบริดคลาวด์ และเอไอ

 

นอกจากนี้ไอบีเอ็มยังมองว่าจุดต่างที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แต่ละองค์กรได้ คือความสามารถในการไขรหัสมุมมองเชิงลึกที่ซ่อนอยู่ในข้อมูลมหาศาล และในปีนี้ ไอบีเอ็มจะมุ่งเน้นที่การนำเทคโนโลยีเอไอสำหรับธุรกิจ (AI for Business) ตั้งแต่อนาไลติกส์ ออโตเมชัน AIOps เทคโนโลยีการคาดการณ์ และแจ้งเตือนการซ่อมบำรุงระบบ เป็นต้น

 

พร้อมด้วยเทคโนโลยีซิเคียวริตี้ระดับโลกจาก IBM Security เข้าสนับสนุนการดำเนินงาน การเพิ่มประสิทธิภาพ การลดต้นทุน การวางแผนคาดการณ์ฯลฯ ขององค์กรไทยในทุกอุตสาหกรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้องค์กรก้าวข้ามความท้าทายในการใช้และเชื่อมโยงฅระบบเทคโนโลยีต่างๆ ภายใต้ ปัจจัยผันผวนรอบด้านที่กระทบต่อธุรกิจ

 

3. การพัฒนาคนเพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจและประเทศอย่างยั่งยืน (Talent for Sustainable Growth) โดยปีนี้ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ยังจะวางแผนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเร่งสร้างและผลิตทรัพยากรบุคคลด้านไอทีและ ดิจิทัล เพื่อรองรับการเติบโตก้าวกระโดดของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังจะมีการช่วยสนับสนุนการสร้างทักษะที่จำเป็นแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ ผ่านสองแนวทางหลัก คือ 1) การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายใต้โครงการ Academic Initiative โดยการมอบหลักสูตรการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี อาทิ AI, Machine Learning, การใช้งานระบบเมนเฟรม เป็นต้น ให้แก่มหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมการ Train the Trainer และการส่งผู้เชี่ยวชาญของไอบีเอ็มเป็นวิทยากรให้ความรู้ในโอกาสต่างๆ

 

และ 2) การเดินหน้าโครงการ P-TECH อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเชิงบูรณาการ ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ ภายใต้หลักสูตร 5 ปี โดยที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือระหว่างไอบีเอ็ม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และพันธมิตรภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด