รู้จัก “NFT” เจ้าของทิพย์บนโลกดิจิทัล ต่างจาก “คริปโต”ไหม ใช้ทำอะไรบ้าง

21 ก.พ. 2565 | 03:24 น.

ชวนมาทำความรู้จัก “NFT” Non-Fungible Token เจ้าของทิพย์บนโลกดิจิทัล มีความเเตกต่างจาก “คริปโต” อย่างไร ใช้ทำอะไรบ้าง

ปลายปีที่แล้ว NFT กลายเป็นคำค้นหาใน Google ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์  Non-Fungible Token หรือที่ถูกเรียกย่อ ๆ ว่า NFT ก็คือ คริปโตเคอร์เรนซี่ Cryptocurrency ประเภทหนึ่งที่แสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ โดยในแต่ละเหรียญจะมีความแตกต่าง มีมูลค่าที่ไม่เท่ากัน

ลักษณะเฉพาะตัวคือ ไม่มีอะไรมาทดแทนได้ ทำให้ไม่สามารถซื้อเป็น “หน่วยย่อย” ได้เหมือน Cryptocurrency ประเภทอื่น ๆ NFT จะต้องซื้อเต็มหน่วยเท่านั้น ผ่านตลาดแพลตฟอร์มต่างๆ ซื้อขายกันได้ทั่วโลก

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนยืมรองเท้าไป เวลาเอามาก็ต้องเอารองเท้าคู่นี้มาคืนเท่านั้น ไม่สามารถไปหาซื้อรองเท้าคู่อื่นที่มีหน้าตาเหมือนกัน หรือหาจากที่ไหนมาคืนได้  เพราะมีความเฉพาะตัวสูง เพราะถึงจะซื้อรองเท้ารุ่นเดียวกัน ปีเดียวกัน แต่มูลค่าไม่เท่ากัน  ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับคริปโตที่เป็นประเภท Fungible Token เช่น  Bitcoin หรือเหรียญอื่นๆ  หากเพื่อนยืมไป 1 หน่วย เวลาเอามาคืนก็เอาเหรียญดังกล่าวที่ไหนมาคืนก็ได้  

นอกจากนี้ NFT ใช้แลกเปลี่ยนซื้อ-ขายสินค้าไม่ได้  นอกจากจะนำตัว NFT ออกมาขายเอง ไม่เหมือน คริปโต ที่ใช้เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม หรือนำไปซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินค้า ใช้แทนเงินสดได้ในร้านค้าหรือบริการที่รับชำระด้วยเหรียญดิจิทัล เช่น นำอีเธอเรียม (Ethereum) ไปจ่ายค่าอาหาร ใช้บิตคอยน์ซื้อรถยนต์ เป็นต้น

       

“Non-Fungible Token” ใช้ทำอะไรบ้าง

ผลงานไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ คลิปวิดีโอ ของสะสม เสื้อผ้า แสตมป์ การ์ดเกม ฯลฯ ที่ถือเป็นของชิ้นเดียวในโลก เป็นลิขสิทธิ์ของเราเอง สามารถแปลงผลงานเหล่านั้นให้อยู่บนออนไลน์ในรูปแบบ NFT จากนั้นนำ NFT ไปขายต่อและโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่ต้องมีคนกลาง ผ่านระบบบล็อกเชน สามารถตรวจสอบผลงานที่อาจถูกขายต่อเป็นทอดๆ ว่ามีใครเคยเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนี้มาแล้ว ทั้งยังสามารถนำออกประมูลได้ด้วย เป็นการเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล  ดังนั้น คนที่ซื้อ ขายงาน NFT ไม่ได้มีแค่ศิลปินหรือนักสะสม แต่ยังมีนักลงทุนหลายคนที่ตั้งใจเข้ามาซื้อเก็งกำไร แล้วนำไปขายต่อ

 

NFT ในประเทศไทย ได้รับอนุญาตหรือยัง ?

 ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ไม่ได้มีการกำหนดเกี่ยวกับ NFT ไว้โดยเฉพาะ แต่กำหนดขอบเขตของสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลไว้ 3 ประเภท ได้แก่

 

1. คริปโทเคอร์เรนซี เป็นเหรียญดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน

 

2. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน หรือ investment token เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ

 

3. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ หรือ utility token เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง โดยแบ่งเป็น utility token พร้อมใช้ และ utility token ไม่พร้อมใช้

 

- utility token พร้อมใช้ ผู้ถือเหรียญสามารถใช้สิทธิแลกสินค้าหรือใช้บริการได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายครั้งแรก

 

- utility token ไม่พร้อมใช้ ผู้ถือเหรียญจะยังไม่สามารถใช้สิทธิแลกหรือใช้ประโยชน์สินค้าหรือบริการนั้นได้ในวันเสนอขาย แต่ต้องรอใช้สิทธิในอนาคต

 

รู้จัก “NFT” เจ้าของทิพย์บนโลกดิจิทัล ต่างจาก “คริปโต”ไหม ใช้ทำอะไรบ้าง

NFT สัญชาติไทย

 

 NFT1  ตลาดซื้อขายแบบ multi-chain บน Binance Smart Chain (BSC) และ Polygon Chain 

Bitkub NFT ศูนย์รวม NFT ในรูปแบบตลาดแรก (Primary Markt) หรือมีเหล่าออฟฟิเชียลแอคเคาท์เป็นผู้เปิดขายผลงานมือหนึ่งให้กับผู้สนใจ ทำงานบนบล็อกเชนสัญชาติไทยชื่อเดียวกับอย่าง Bitkub Chain

Coral เจ้าใหญ่ที่เข้ามาในตลาด NFT กับแพลตฟอร์ม ‘Coral’ จากบริษัท KASIKORN X

JNFT แพลตฟอร์มที่ครีเอเตอร์สามารถขายงานศิลปะได้ด้วยตัวเอง ผ่านการสมัครเข้าใช้งาน ขอเพียงมีกระเป๋าเงินในระบบบล็อกเชน (Metamask) เชื่อมต่อเข้าระบบ และยืนยันตัว

 

 

NFT ซื้อขายที่ไหนอีกบ้าง

ตลาด NFT ต่างๆ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม ใช้ Eth ในการซื้อขาย เช่น

opensea.io ตลาดซื้อขายภาพในรูปแบบ NFT

 NBA Top Shot   ตลาดซื้อขาย การ์ดสะสม สำหรับบาสเกตบอล NBA

 Sorare  ตลาดสำหรับเกม เป็นเกมบริหารจัดการทีมฟุตบอลที่จะต้องมีการซื้อขายการ์ดนักเตะ

Decentraland ตลาดซื้อขายของ หรือ ที่ดิน ในโลกจำลอง

 Valuables  เแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย NFT ที่เป็น Tweet เช่น Tweet โดย Jack Dorsey  CEO ของ Twitter เอง ก็ได้ขายผ่านแพลตฟอร์มนี้  ราคากว่า 2.9 ล้านดอลลาร์