“ดีอีเอส-ตำรวจ” เร่งปั้นมือปราบมิจฉาชีพออนไลน์

07 ก.พ. 2565 | 04:55 น.

ดีอีเอส-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มประสิทธิภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ปั้นมือปราบมิจฉาชีพออนไลน์ ย้ำนิยามข่าวปลอม-โซเชียล ใน กม.ปราบเฟคนิวส์ เพื่อครอบคลุมประโยชน์ของสังคม

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวระหว่างการเปิดงาน และมอบนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม วันนี้ (7 ก.พ. 65) ซึ่งมีพล.ต.ท. สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าร่วมในการเปิดการฝึกอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ซึ่งครอบคลุมข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงผู้กำกับ

“ดีอีเอส-ตำรวจ” เร่งปั้นมือปราบมิจฉาชีพออนไลน์

สำหรับการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันของกระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการประสานงานแก้ไขปัญหาและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ ซึ่งรวมถึงแก๊งค์คอลล์เซ็นเตอร์ ที่กำลังระบาดหนัก จึงเห็นความสำคัญของการขยายความร่วมมือในการประสานงานแก้ไขปัญหาและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน  ซึ่งจะครอบคลุมถึงการปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ข้ามแดนด้วย

“ดีอีเอส-ตำรวจ” เร่งปั้นมือปราบมิจฉาชีพออนไลน์

“กระทรวงฯ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญ ในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะมอบอำนาจให้ตำรวจในพื้นที่ สามารถดำเนินการได้ตามคดีที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ผ่านมาได้ลงนามมอบอำนาจนี้ให้กับตำรวจไซเบอร์ ของบช.สอท. ขั้นตอนจากนี้ก็จะมอบอำนาจให้ถึงระดับตำรวจภูธร เพื่อรองรับแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปของการซื้อขายออนไลน์ที่ขยายตัวอย่างมาก” นายชัยวุฒิกล่าว

สำหรับการจัดให้มีการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ครั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราม และการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนให้ได้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด และในการช่วยเหลือประชาชนบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแก๊งค์คอลล์เซ็นเตอร์ หลอกลงทุน แอปเงินกู้ อาชญากรรมออนไลน์ข้ามชาติ และเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินคดีช่วยเหลือผู้เสียหายต่อไป 

 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยหันมาใช้แอปพลิเคชั่นกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว โดยเฉพาะการจ่ายเงินผ่านออนไลน์ ซื้อของออนไลน์ เป็นต้น ประกอบกับอาชญากรรมทางออนไลน์ก็เพิ่มขึ้น  ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ได้พบเห็นกันทั้งโลก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่กระทรวงดิจิทัลฯ ในฐานะกำกับดูแล บทบาทตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะเร่งการทำงานร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในภารกิจแก้ไขปัญหาและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์

 

สำหรับการจัดอบรมครั้งนี้เป็นรูปแบบออนไลน์ ระยะเวลา 5 วัน เนื้อหาหลักสูตรครอบคลุม 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การอบรมด้านจริยธรรม /จรรยาบรรณที่พึ่งมีในบทบาทและอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ 2. ความรู้พื้นฐานด้านการสืบสวนและสอบสวนเพื่อบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement)  และ 3.การพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ (Computer Forensics)

 

พล.ต.ท. สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกัน และปรามปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ในปัจจุบัน ที่สร้างผลกระทบต่อประชาชน จึงมีความจำเป็นต้องสร้างบุคลากรให้สามารถในการสืบสวนสอบสวนทางเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น

 

ในโอกาสนี้ได้ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลฯ ในการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพแก่ข้าราชการตำรวจ เพื่อให้มีคุณสมบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 381 นาย ครอบคลุม ระดับสารวัตรถึงผู้กำกับ จากหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ

 

“ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับการสืบสวนสอบสวนของตำรวจทั้งประเทศ ทั้งจาก กองบัญชาการสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการ กองบัญชาการตำรวจปราบปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบังคับการสืบสวนสอบสวน และตำรวจภูธรภาค 1-9 ในการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชน” พล.ต.ท. สราวุฒิกล่าว

 

รัฐมนตรีดีอีเอส กล่าวย้ำว่า ก่อนที่จะประกาศใช้  "ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ. …." กระทรวงจะต้องเตรียมความพร้อม ซักซ้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดมาตรฐานและแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ร่างระเบียบฯดังกล่าวกระทรวงดิจิทัลฯ ได้นำเสนอและผ่านการอนุมัติจาก ครม. โดยกำหนดบทนิยามที่สำคัญ ได้แก่ 1.1 “สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” หมายความว่า สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ตามประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ.2564 และ 1.2 “ข่าวปลอม” หมายความว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในสื่อสังคมออนไลน์ หรือในระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นข้อมูลเท็จหรือข้อมูลปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

 

ทั้งนี้ ขอให้ความมั่นใจกับประชาชน ภาคสังคม และสื่อมวลชนว่า รัฐบาลมุ่งหวังประโยชน์สูงสุดให้เกิดกับประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหา ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ สื่อสังคมออนไลน์ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการสร้างและเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม การสร้างและเผยแพร่ข่าวปลอม (Fake news) ที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งการกำหนดหลักการและแนวทางการทำงานและบูรณาการทำงานที่ชัดเจนตามร่างระเบียบฯ ฉบับนี้จะลดความเสียหายจากผลกระทบที่เกิดขึ้นได้รวดเร็ว

 

“สำหรับกรณีที่มีนักวิชาการบางรายเสนอว่า ควรเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องทำความจริงให้ปรากฏและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนนั้น ที่ผ่านมาศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลฯ มีการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนในเรื่องนี้อยู่แล้ว สื่อมวลชน อินฟลูเอ็นเซอร์ และสำนักข่าวหลายแห่ง เป็นภาคส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากศูนย์ฯ หลังได้รับผลการตรวจสอบข่าวที่ทางศูนย์ฯ ได้มาจากระบบ social monitoring และการแจ้งเบาะแสจากประชาชน และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบยืนยัน (verify)” นายชัยวุฒิกล่าว