ดันควอนตัมสายพันธุ์ไทยปักธงตลาดระดับโลก

14 ม.ค. 2565 | 07:39 น.

“QTFT”กางแผน ลุยสร้างยูสเคสองค์กรรัฐ-เอกชน เปิดตลาดเทคโนโลยี “ควอนตัม”ในไทย ชี้ “กลุ่มแบงก์-ภาคผลิต-พลังงาน” ตื่นตัวรับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก พร้อมระดมทุน Seed Fund ไตรมาสแรก ก่อนร่วมพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ควอนตัมเทคโนโลยีระดับโลก พัฒนาโปรดักส์ ขยายตลาดต่างประเทศ

นายจิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ควอนตัม เทคโนโลยี ฟาวเดชัน (ประเทศไทย) หรือ QTFT องค์กรที่ปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมในระดับภูมิภาค เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าปี 2565 ถือเป็นปีแรกของการเริ่มต้นเทคโนโลยีควอนตัมในไทย โดยเริ่มเห็นองค์กรภาคเอกชน และรัฐ ตื่นตัว และลงทุนเทคโนโลยีควอนตัมมากขึ้น

ดันควอนตัมสายพันธุ์ไทยปักธงตลาดระดับโลก

โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร สถาบันการเงิน, พลังงาน และภาคการผลิต ทั้งนี้ควอนตัม เทคโนโลยี ฟาวเดชัน จะมุ่งการพัฒนาซอฟต์แวร์ Quantum Optimization ที่ทำงานอยู่บนระบบไฮบริดระหว่างดิจิทัลและควอนตัม เพื่อช่วยองค์กรของไทยและต่างประเทศ เตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคของควอนตัมเทคโนโลยี

โดยในส่วนฮาร์ดแวร์ แพลตฟอร์ม ได้ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์เชิงกลยุทธ์กับฟูจิตสึ (ประเทศไทย) ทำงานร่วมกัน เพื่อนำเสนอ Optimization โซลูชั่นบน Quantum Inspired-Technology ซึ่งเป็นฮาร์ดแวร์เทคโนโลยีควอนตัมแบบดิจิทัล ที่ทำงานเลียนแบบควอนตัมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ภาคธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากแนวคิดของควอนตัมได้ล่วงหน้าก่อนที่เทคโนโลยีควอนตัมจะถูกใช้งานทางธุรกิจได้จริงอย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

โดยขณะนี้เปิดให้บริการ 6 ด้าน คือ 1) การบริหารจัดการระบบคลังสินค้าและโลจิสติกส์ (Logistics & Warehousing Optimization) 2) การค้นพบยาและการพัฒนายา (Drug Discovery), 3) การสร้างและบริหารพอร์ตลงทุน (Portfolio Management), 4) การบริหารจัดการการผลิต (Manufacturing Optimization) 5) การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Optimization), 6) การบริหารจัดการระบบพลังงาน (Energy Management Optimization)

ดันควอนตัมสายพันธุ์ไทยปักธงตลาดระดับโลก

 “แบงก์ตื่นตัวกับเทคโนโลยีควอนตัม โดยที่ผ่านมาเริ่มทำยูสเคส กับ KBTG และธนาคารกสิกร เพื่อนำเทคโนโลยี Quantum Optimization ไปประยุกต์ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารทางด้านการเงิน (financial optimization problem) โดยผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ และกำลังส่งตีพิมพ์ในวารสารวิจัยระดับโลก รวมถึงอยู่ระหว่างหารือกับทาง KBTG และธนาคารเพื่อเปิดตัวโครงการวิจัยดังกล่าว

นอกจากนี้ยังให้บริการคำปรึกษาทางด้านระบบรักษาความปลอดภัย Post-Quantum Cryptography โดยในไม่กี่ปีข้างหน้า สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (NIST) ของสหรัฐ จะประกาศมาตรฐานการเข้ารหัสลับหลังเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ควอนตัม เนื่องจากมาตรฐานความปลอดภัยที่มีอยู่ปัจจุบันไม่สามารถป้องกันการโจมตีควอนตัมคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งในช่วงการเปลี่ยนผ่านนั้นองค์กรจำเป็นต้องเตรียมพร้อม ปรับแผนไซเบอร์ซิเคียวริตี้เพื่อรองรับ

 

สำหรับแผนธุรกิจของ  QTFT นั้นจะมุ่งการสร้างยูสเคส การใช้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควอนตัม ขององค์กรภาครัฐ และเอกชนต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้จะมีตัวเลขการเติบโตธุรกิจไม่ต่ำกว่า 10 เท่า ซึ่งจุดแข็งของ QTFT องค์ความรู้ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีควอนตัม โดยมีบุคลากรหลักของ QTFT ที่จบปริญญาเอก กว่าครึ่งหนึ่งจบมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ทั้งเคมบริดจ์, ฮาร์วาร์ด และเบิร์กลีย์ สามารถรองรับการให้บริการกับองค์กรได้ 50-100 โปรเจ็กต์ในปี 2565 นี้

 

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าบุคลากรควอนตัมในไทยยังมีน้อยอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าไปสร้างเครือข่ายนักวิจัยมหาวิทยาลัยในไทยขึ้นมา โดยร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิลิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อพัฒนาบุคลากร และป้อนงานให้กับนักวิจัย ซึ่งปีนี้จะขยายความร่วมมือกับภาคการศึกษามากขึ้นในการพัฒนาบุคลากร

 

นายจิรวัฒน์ กล่าวต่อไปอีกว่าภายในไตรมาสแรกปีนี้บริษัทคาดว่าจะปิดการระดมทุน รอบ Seed Fund อย่างไรก็ตามยังไม่เปิดเผยตัวเลข (มูลค่าทั่วไปของควอนตัมสตาร์ทอัพรอบ Seed Round อยู่ที่ราว 1-2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 33-66 ล้านบาท) โดยบริษัทจะนำเม็ดเงินระดมทุน มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในต่างประเทศ และต้องการขยายการทำตลาดไปยังตลาดโลก โดยซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมา ทำงานได้เหนือกว่าคู่แข่งในต่างประเทศ ในมุมของการทำ real-time optimization ทั้งในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ไฟแนนซ์ และพลังงาน นอกจากนี้ภายในไตรมาส 2 คาดว่าจะประกาศเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับผู้พัฒนาควอนตัมเทคโนโลยีระดับโลก รวมถึงฮาร์ดแวร์ที่เป็นเทคโนโลยีควอนตัม แบบเต็มรูปแบบมาใช้งาน