ทรู - ดีแทค ควบรวม จับตาดีลแสนล. กับข้อครหาผูกขาด!

22 พ.ย. 2564 | 02:19 น.

วิเคราะห์ ทรู - ดีแทค เซ็น MOU เดินหน้าควบรวมกิจการแสนล้าน "กิจพณ ไพรไพศาลกิจ" เชื่อดีล TRUE-DTAC คล้ายกรณี Didi + Axiata ในมาเลเซีย กฎหมายมองไม่ผูกขาด

22 พ.ย. 2564 - เปิดประเด็นร้อนในวงการหุ้นโทรคมนาคม และธุรกิจไทย หลังเช้าวันนี้ TRUE - DTAC เซ็น MOU ร่วมทุน พร้อมตั้งบริษัทใหม่ เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ สู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company)

 

โดยมี นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ (ดีแทค) ประกาศความร่วมมือกัน

ดีลควบรวมกิจการทรู - ดีแทค กลายเป็นปรากฎการณ์ที่สังคมจับตามองในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ก่อนมีความชัดเจนช่วงเช้าวันนี้ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังวิเคราะห์ต่อว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการผูกขาดในตลาดโทรคมนาคมหรือไม่

 

หลังผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือของไทย ซึ่งเดิมมีอยู่ 3 เจ้า คือ เอไอเอส ทรู และดีแทค ขณะนี้จะลดเหลือแค่ 2 เจ้า ซึ่งการแข่งขันที่น้อยลง ผลกระทบมากที่สุด กลับเป็นผู้บริโภค

ล่าสุด นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก บัญชี Kitpon Praipaisarnkit วิเคราะห์กรณี ทรู และ ดีแทค รวมกิจการกัน โดยเชื่อดีลนี้ มีความคล้ายกับกรณี Didi + Axiata ในมาเลเซีย ซึ่งท้ายที่สุดกฎหมาย จะมองว่าไม่ผูกขาด ตามเนื้อหาใจความดังนี้ ...

 

จะทำยังไงให้ดีล TRUE-DTAC ไม่ถือเป็นการผูกขาด // ความสนุกอย่างหนึ่งของการวิเคราะห์หุ้นโทรคมนาคม คือ มันมองแค่งบการเงินไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับดูแล ก็คือการจัดโครงสร้างต่างๆของบริษัทให้ดีลสามารถที่จะเกิดได้ โดยไม่ผิดเกณฑ์กำกับดูแล หรือไปได้ตามช่องที่มีอยู่ ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าความต้องการในเชิงกลยุทธ์ของบริษัท ซึ่งอย่างหลังนี้ เราสามารถอ่านได้จากงบการเงิน และสภาพการแข่งขันที่บังคับอยู่

 

แม้ดีลจะมีโอกาสออกได้ 3 หน้า คือ 

  1. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าซื้อกิจการ
  2. การควบรวมกิจการ (ซึ่งจะตามมาด้วยการแลกหุ้น)
  3. การรวมมือในการใช้โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure sharing)

ทรู - ดีแทค ควบรวม จับตาดีลแสนล. กับข้อครหาผูกขาด!

แต่ผมก็ยังโน้มเอียงไปในทางว่าดีลจะอยู่ระหว่างข้อ 2 กับ ข้อ ด้วยเหตุผลเรื่องข้อจำกัดด้านการก่อหนี้ของทั้งคู่ และจริงๆ โน้มเอียงไปในทางข้อ 3 เนื่องจาก ขนาดของธุรกิจของ TRUE ที่ใหญ่กว่า หากเกิดการรวมกัน DTAC แล้วต้องกลายเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจบริหารน้อยกว่า พึ่งพาตัวเองไม่ได้ และทุกอย่างต้องแล้วแต่ผู้ถือหุ้นใหญ่คนใหม่ (TRUE) ซึ่งผมคิดว่า Telenor เองก็อาจจะไม่ค่อยสบายใจ

 

ซึ่งในดีลคล้ายกันที่มาเลเซีย Didi (Telenor ถือ 50%) + Axiata ในบริษัทร่วมใหม่ Didi และ Axiata จะถือหุ้นเท่ากันที่คนละประมาณ 33% มันเป็นเงื่อนไขที่ทั้งคู่มีอำนาจบริหารพอๆกัน แต่ในดีลนี้ที่ขนาดค่อนข้างต่าง ผมเลยมองไปในทางที่ Telenor น่าจะไม่อยากรับบทแค่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ที่ไม่มีอำนาจกำหนดทิศทางธุรกิจ

ทรู - ดีแทค ควบรวม จับตาดีลแสนล. กับข้อครหาผูกขาด!

โดยส่วนตัวผมถึง ค่อนข้างให้น้ำหนักกับทางเลือกที่ 3 หรือ การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วม โดยให้น้ำหนักกับการปิดความเสี่ยงด้านกำกับดูแล หรือเกี่ยวกับเรื่องของการแข่งขัน (การผูกขาด) อีกทั้งต่างคนต่างสามารถทำการตลาดของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่บรรลุข้อตกลในการแชร์โครงข่ายและการลงทุนร่วมกัน ซึ่งอาจเป็นการนำบริษัทในชั้นที่เป็นผู้ลงทุนโครงข่าย (NetCo) มารวมกัน หรือมาถือหุ้นในบริษัทใหม่ด้วยกัน แล้วแยกชั่นของการตลาดหรือให้บริการออกไปแบบต่างคนต่างทำ ซึ่งก็จะไม่ขัดแย้งกัน และจริงๆ TRUE เองก็เเคยจัดโครงสร้างในลักษณะนี้แล้ว 

ทรู - ดีแทค ควบรวม จับตาดีลแสนล. กับข้อครหาผูกขาด!

หากมองไปที่รูปที่ผมเคยทำเมื่อ 10 ปีก่อน (โครงสร้างนี้ไม่ปรากฎเป็นทางการ) การวางโครงสร้างในลักษณะของ Reseller / Mobile Virtual Network Enabler / Mobile Network Operator เป็นโครงไอเดียที่สามารถเอามาใช้ในรอบนี้ 

 

ซึ่งในกรณีที่ดีลมันเกิดเป็นการควบรวม หรือต้องมี MergeCo ขึ้นมา โครงสร้างลักษณะนี้ก็จำเป็น เพราะถ้าผมเป็นผู้บริหารของ TRUE-DTAC ผมก็จะชี้แจงต่อกสทช.และคณะกรรมการแข่งขันการค้า ว่า การรวมกันไม่ทำให้เกิดการผูกขาด โดย ผู้ให้บริการรายอื่นๆ ก็จะสามารถมาเช่าใช้โครงข่ายจาก  MergeCo (ซึ่งทำหน้าที่เป็น MNO) ได้ หรือจริงๆ จะรวมกันเพื่อตั้ง MVNE ขึ้นมา ทำหน้าที่เช่าความจุโครงข่ายของแต่ละราย แล้วเอามาขายปลีกต่อ เพื่อทำให้โครงสร้างนี้ "ไม่ปิดกันหรือผูกขาดต่อการแข่งขัน" ก็สามารถทำได้

 

ดังนั้นไม่ว่า ที่สุดทางเลือกจะออกมาเป็น 2 หรือ 3 แต่การจัดโครงสร้างเพื่อ defend ดีลนี้ต่อ กสทช. และบอร์ดแข่งขัน ผมเชื่อว่าจะหนีออกมาไม่พ้นรูปแบบนี้ครับ

 

ขอไม่แสดงความเห็นในเชิงว่า มันจะดีหรือไม่ดีกับการแข่งขันโดยรวม แต่ขอแสดงความเห็นแบบฟันธงว่า ดีลนี้ ด้วยกระบวนการทั้งหมดตามนี้ ผมเชื่อว่าจะไม่ถือว่าเป็นการผูกขาด และที่สุดจะได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดครับ