"OR" เล็งสร้าง "อุทยานอะเมซอน" 615 ไร่ จุดประกายสร้างรายได้-ดูแลสิ่งแวดล้อม

25 มี.ค. 2567 | 06:40 น.

"OR" เล็งสร้าง "อุทยานอะเมซอน" 615 ไร่ จุดประกายสร้างรายได้-ดูแลสิ่งแวดล้อม เผยเบื้องต้นจะใช้พื้นที่ประมาน 300 ไร่ เพื่อทดสอบระบบ พร้อมทุ่มเงิน 8 พันล้าน ติดตั้งจุดชาร์จอีวีให้ได้ 7,000 จุด ตอบโจทย์นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทย

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ (OR) เปิดเผยในงาน Grand Opening CLIMATE CENTER ในหัวข้อ "Energy Transition : จุดเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ว่า โออาร์เตรียมสร้างอุทยานอะเมซอน บนพื้นที่ 615 ไร่ที่จังหวัดลำปาง 

โดยเบื้องต้นจะใช้พื้นที่ประมาน 300 ไร่ เพื่อทดสอบระบบ ซึ่งอุทยานดังกล่าวจะเป็นศูนย์วิจัย และพัฒนา (R&D) กาแฟที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นศูนย์เรียนรู้ 

และในอนาคตจะมีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการ รวมถึงใช้ในการดูแลเกษตรกร กระจายรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดลำปางให้ดียิ่งขึ้น
 

"ประเด็นที่สำคัญคือการดูแลเรื่องคาร์บอน โดยจะมีการปลูกกาแฟ และเคลมเรื่องคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นการจุดประกาย รวมถึงตอกย้ำความมั่นใจให้ประชาชนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งโออาร์จะทำให้เห็นว่าสามารถพื้นที่แห้งแล้งให้เขียวชะอุ่ม มีสวนดอกไม้ สวนโกโก้ที่จะสามารถสร้างรายได้ และดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป"

"OR" เล็งสร้าง "อุทยานอะเมซอน" จุดประกายสร้างรายได้คู่ดูแลสิ่งแวดล้อม

สำหรับการดำเนินการเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ของประเทศในปี 2573 ตามข้อตกลงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP28) ซึ่งไทยได้ตกลงทำสัญญาร่วมด้วยนั้น โออาร์ได้ดำเนินการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนต่างๆ 12 ล้านชีวิต รวมถึงกระจายรายได้มากกว่า 1 ล้านคน และลดใช้พลังงานไม่สะอาด 

"โออาร์ยังคงมุ่งเน้นดูแลคนตัวเล็ก สร้างรายได้ให้ประเทศต่อเนื่อง รวมถึงกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจที่หลากหลาย เช่น อาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) รวมถึง Health & Wellness และอีก 3 เดือนจะเปิดร้านบิวตี้สโตร (Beauty Store) แห่งแรกของโอาร์"
 

นายดิษทัต กล่าวอีกว่า ความท้ายของสัญญา COP28 คือความรวดเร็วในการเพิ่มพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 3 เท่าภายในปี 2573 ดังนั้น จึงต้องมีการปรับตัวเรื่องเทคโนโลยี  โดยปัจจุบันกลุ่มปตท. เริ่มขายสินทรัพย์ที่เป็นฟอสซิลที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออไซด์สูง เช่น ถ่านหินหมดแล้วในพอร์ต เป็นต้น

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังลงทุนเรื่องเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน (CCUS) กลุ่มปตท. ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่กลุ่ม ปตท.สามารถทำได้ อีกทั้ง โออาร์ยังมีศูนย์ปฏิบัติการขนาดใหญ่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีทั้งโรงคั่วกาแฟ โรงเบเกอร์รี่ที่ใช้พลังงานสะอาด ซึ่งแม้โออาร์จะเป็นผู้ขายพลังงาน แต่กระบวนการผลิต หรือการจัดการโออาร์ใช้พลังงานสะอาด

กระทรวงพลังงานขับเคลื่อนโดยนำสัญญา COP28 มาเขียนแผนกลยุทธ์ โดยโออาร์ก็จะเป็นระบบนิเวศน์หนึ่งในการขับเคลื่อน ซึ่งปัจจุบันได้มีการดำเนินการไปแล้วอย่างต่อเนื่อง เช่น การติดตั้งสถานนีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศไทย 

มีจุดชาร์จทั้งหมด 1700 จุด โดยมีเป้าหมายจะติดตั้งให้ได้  7,000 จุดที่เป็นแบบชาร์ตเร็ว หรือประมาณ 55% ของเป้าหมายของไทยที่ต้องการมีจุดชาร์จอีวี 12,000 จุด ซึ่งล่าสุดได้มีการอนมัติเงินลงทุนไปกว่า 8 พันล้านบาท เพื่อดูแลโครงสร้างพื้นฐานของประเทศดังกล่าว

"โออาร์มองว่า EV ไม่ได้เป็นเทรด์ แต่ถือเป็นโอกาส โดยในอนาคตโออาร์จะดำเนินการตามกลยุทธ์ในรูปแบบที่เป็นชุมชนโออาร์ ( OR Space Community) ซึ่งน้ำมันจะเป็นแค่หนึ่งผลิตภัณฑ์เท่านั้น โดยปัจจุบันมีสถานีนำร่องที่สาขาวิภาวดี 62 โดยสิ่งที่โออาร์ต้องทำคือการติดตามเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีการติดตามอัตราการเติบโตจของอีวีอย่างใกล้ชิด ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก โออาร์ก็พยายามบริหารจัดการกลยุทธ์ให้สอดรับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น"